ดร.สุทิพย์พร โชติรัตนศักดิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ที่จะยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางวิชาการ มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดการเรียนการสอนและการวิจัย สู่การพัฒนาความรู้ ทักษะอาชีพ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี และมหาวิทยาลัยยังได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ) หรือ U2T ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator ในการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนเกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชนนั้น ในส่วนของ มบส.ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย โดยรับผิดชอบ 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี รวม 40 ตำบล ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 6 คณะ 1 วิทยาลัย ประกอบด้วยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะบัณฑิตวิทยาลัย และวิทยาลัยการดนตรี ได้ลงไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ภายใต้การดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
ดร.สุทิพย์พร กล่าวต่อไปว่า ในปี 2565 มบส. ยังคงเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฐานราก และขณะนี้ทั้ง 7 คณะ/วิทยาลัย ก็เริ่มทยอยลงพื้นที่ชุมชน โดยนำความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละคณะลงไปพัฒนาช่วยแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ชุมชน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เราต้องปรับการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ให้ได้ และจากสถานการณ์โควิดยอมรับว่าเราทำงานยากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งชุมชน มหาวิทยาลัยกลับมาปรับรูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทุกมิติและช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น เดิมจัดอบรมให้ชาวบ้าน 100-200 คน ก็จะลดจำนวนลงเหลืออบรมแกนนำไม่กี่คน แล้วให้แกนนำนำความรู้ไปช่วยเผยแพร่ในชุมชนต่อไป หรือจัดอบรมออนไลน์ รวมถึงการสอนให้ชาวบ้านขายของออนไลน์มากขึ้น จากที่ทุกปีมหาวิทยาลัยจะมีการจัดงานและเชิญชุมชน ชาวบ้าน สถานประกอบมาขายของ ซึ่งตรงนี้ขายของได้มาก แต่พอเจอโควิดต้องหยุดไป แต่การนำนวัตกรรมไปใช้ในชุมชนเรายังทำอย่างเต็มที่
ด้านผศ.ดร.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. กล่าวว่า ส่วนการลงพื้นที่บางจุดก็จะลงเพียง 1 คณะ ขณะที่บางจุดก็ลงพร้อมกันหลายคณะ ซึ่งก็ต้องดูเป็นจุด ๆ ไป อย่างเรื่องการศึกษาจะมีคณะครุศาสตร์ดูแลเป็นหลัก มีหลายโครงการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และปูพรมทำหมด เช่น พื้นที่กรุงเทพให้ความรู้การจัดทำหลักสูตรตั้งแต่ระดับปฐมวัย อนุบาล หรือโรงเรียนสาธิตที่เข้าไปช่วยทำสื่อการเรียนการสอน การกระดับคุณภาพการอ่าน การเขียน การวิเคราะห์ ของเด็ก ให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ ส่วนการลงพื้นที่ชุมชนก็เช่นกันบางพื้นที่ก็ลง 1 คณะ บางพื้นที่ก็ลงไปเกือบทุกคณะ สำหรับโครงการที่โดดเด่นมากที่อำเภอบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ดังเรื่องของมะพร้าว มหาวิทยาลัยลงไปช่วย โดยเฉพาะช่วงที่มะพร้าวราคาตกต่ำ เราก็จะไปให้ความรู้ให้แก่ชาวสวนและชาวบ้านในหลายเรื่อง เช่น การแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว การทำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้ชาวบ้านสามารถขายสินค้าและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องของสมุนไพร เพื่อต้องการพัฒนาเมืองอู่ทองให้เป็น เมืองแห่งสมุนไพร จะมีการปลูกสมุนไพรแปรรูปและส่งให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ
“ การลงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยประชาชนค่อยข้างพึงพอใจอย่างมาอยากให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการต่าง ๆของมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชน หรือกลุ่มของตนเอง ซึ่งความรู้นี้ถ้าตั้งใจจริงและนำไปต่อยอดจะทำให้เศรษฐกิจพื้นที่ดีขึ้น พอเศรษฐกิจดีขึ้นลูกหลานก็จะมีงานทำและมีอาชีพ บางคนที่ไปทำงานในเมืองก็จะกลับมาอยู่บ้านและทำงานในชุมชน เพราะในเมืองก็ไม่มีงานให้ทำ 100 % ยิ่งเจอโควิดด้วย แต่ถ้าในชุมชนมีงานให้ทำลูกหลานก็น่าจะกลับมาอยู่ด้วย ก็จะเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นจริง ๆ “ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย กล่าว.