เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีการจัดนิทรรศการแสดงผลการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ของศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ว่า ตนให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับอาชีวศึกษามาก เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ และเห็นว่าการจัดการอาชีวศึกษา สามารถตอบสนองทุกมิติของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้เป็นอย่างดี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาต้องมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยการนำระบบและกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย รวมถึงพันธมิตรที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของสถานประกอบการในภาคเอกชนมาร่วมจัดการอาชีวศึกษาอย่างเข้มแข็ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ จำนวน 15 แห่ง เพื่อทำหน้าที่ในการวางแผนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำฐานข้อมูลกำลังคน การดูแลอำนวยความสะดวก และสวัสดิการของผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในเขตพื้นที่ ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นทิศทางและการพัฒนาทักษะอาชีพที่ดีเยี่ยม
“วันนี้ตั้งใจมาดูงานหลักของ สอศ. โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่ายถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี 100% และเด็กที่เรียนจบออกไปแล้วมีงานทำ 100% ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องของการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคีเป็นอย่างมาก ซึ่งการรวมศูนย์ฯทวิภาคีเป็นการสร้างความเข้มแข็ง”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
จากนั้น น.ส.ตรีนุช ได้เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาปิโตรเคมี ที่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด และเป็นสักขีพยานในการรับมอบเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (V-ChEPC) และโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม (V-EsEPC) ประจำปีการศึกษา 2565 พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่สถานประกอบการที่มอบเงินสนับสนุนโครงการฯ โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทวิภาคีในสาขาที่ขาดแคนตอบสนองต่อความต้องการของอุตสากรรมใหม่ ซึ่งตนจะนำแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จไปใช้กับในพื้นที่อื่นต่อไป
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ. โดย ศูนย์ CVM ได้ร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด (V-ChEPC) และโครงการพัฒนาช่างเทคนิค สาขางานไฟฟ้าควบคุม โดยได้ลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนาหลักสูตร , พัฒนาครู , การจัดแผนการเรียนรู้ , การฝึกงาน และการส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเป็นครูช่วยสอน เป้าหมายของโครงการคือ ให้ผู้เรียนมีงานทำ มีความรู้ และทักษะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมปัจจุบัน โดยได้รับมอบเงินสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี จำนวน 6 แห่ง เป็นเงิน 9.5 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 3.5 ล้านบาท บริษัท เอสซีจี เคมีคอลส์ จำกัด 3 ล้านบาท บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 1ล้านบาท กลุ่ม บริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) 5 แสนบาท กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย 5 แสนบาท และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 1 ล้านบาท สนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม จำนวน 4 แห่ง เป็นเงิน 1.4 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 5แสนบาทบริษัท บีแอลซีพี พาวเวอร์ จำกัด 5 แสนบาท สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 2 แสนบาท และบริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 2 แสนบาท
เลขาธิการ กอศ.ยังกล่าวถึง ศูนย์ทวิภาคีอาชีวศึกษาเขตพื้นที่ ว่า สอศ.ได้นำนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดเป้าหมายของประเทศ โดยสร้างกรอบการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความพร้อม ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นเรื่องการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อฝึกเด็กให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ เมื่อเด็กเรียนจบในสถานประกอบการแล้ว เด็กจะมีงานทำ 100%
“ในอดีตการบริหารจัดการทวิภาคีสถานศึกษาต่างคนต่างทำไม่มีความเป็นเอกภาพ สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีความเข้มแข็งของสถานประกอบการก็จะมีสถานประกอบการเข้ามาร่วมมือมากแต่หากสถานศึกษาที่อยู่นอกเขตพื้นที่ ที่มีสถานประกอบการน้อย ก็จะอ่อนแอ จะไม่มีสถานประกอบการเข้ามาช่วยมาก แต่เมื่อ สอศ.จัดตั้งศูนย์ อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ 15 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนสถานประกอบการให้สถานศึกษาที่ไม่มีสถานประกอบการ
เพื่อเข้ามาจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบทวิภาคี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เช่น วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่ายก็เป็นศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ของภาคตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 15 ศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ถ้าวิทยาลัยใดที่อยู่ในภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ ต้องการมาฝึกงานในรูปแบบทวิภาคีที่ EEC ภาคตะวันออก เทคนิคบ้านค่าย ซึ่งเป็นศูนย์ทวิภาคีของภาคตะวันออกก็จะสนับสนุนในเรื่องของสถานประกอบการ นี่คือข้อดีของการบริหารจัดการในรูปแบบของศูนย์ทวิภาคีและสถานศึกษาอื่นๆที่ส่งเด็กมาฝึกงานในพื้นที่เทคนิคบ้านค่าย ก็จะเตรียมความพร้อมและนิเทศในเรื่องของการเรียนการสอนทวิภาคีแทนสถานศึกษาเอง ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบของศูนย์ฯ”เลขาธิการ กอศ. กล่าว