เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยน.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ที่วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ปากท่อ และ เปิดงาน Kick-off สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน
โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นโครงการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญตามนโยบายเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเด็กตกหล่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียน–การเดินทางดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามาเรียนฟรี 3 ปี และมีที่พักให้ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่า วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ สามารถนำเพิ่มจำนวนเด็กจาก ปีการศึกษา 2562 ที่มีประมาณ 60 คน เป็น631 คน ในปีการศึกษา 2564 ซึ่งปริมาณผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากการแนะแนวตามโรงเรียนชายขอบ ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา อ.โป่งกระทิง และ อ.เบิกไพร เป็นอำเภอที่มีระยะทางห่างจากวิทยาลัยประมาณ 50-60 กิโลเมตร โดยวิทยาลัยมีสวัสดิการให้แก่นักเรียน ทั้งการจัดรถรับ–ส่งฟรี มีหอพักที่เป็นตึกละ 4 ชั้น แยกเป็นชาย –หญิง ที่เป็นมาตรฐานของ สอศ. ฟรีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมนอกจากนี้ยังมีงบฯเรียนฟรี 15 ปี นำมาจัดสรรเป็นชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ฟรี และมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงประสานงานเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการส่งต่อเด็กด้วย
” ต้องขอชื่นชมผู้บริหารที่สามารถคิดนอกกรอบและปรับเม็ดเงินที่มีอยู่มาดำเนินการได้ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดี อย่างไรก็ตาม ดิฉันจะนำข้อดี รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบมาปรับปรุงในแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการของโครงการแล้ว และ สอศ.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไป” รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ซึ่ง สอศ.ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการ 87 แห่งทั่วประเทศ สามารถรับปริมาณนักเรียนเข้าร่วมโครงการได้ 5,200 คน ซึ่งวันนี้ก็เป็นการมาดูความพร้อมของวิทยาลัยที่ดำเนินการ เพื่อกลับไปปรับแผนการสนับสนุนต่อไป ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 จะเพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการให้ได้ 169 แห่งทั่วประเทศ สามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนได้ทั้งสิ้น116,000 คน
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า สำหรับการเดินสายโรดโชว์สถานศึกษาปลอดภัย ที่ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 4 ที่ ศธ.มาการสร้างการรับรู้ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน พบว่าสถานศึกษามีความตื่นตัวดี และจากการเปิดศูนย์ MOE SAFETY CENTER ปรากฏว่ามีเรื่องเรื่องร้องเรียนมาประมาณ 100 กว่าเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องบูลลี่กันในโรงเรียน ซึ่งก็ได้มีการประสานงานแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงในโรงเรียน ตอนนี้เหลือประมาณ 20 เรื่องซึ่งได้เร่งประสานให้แก้ไขปัญหาโดยเร็ว
“ดิฉันขอบคุณที่โรงเรียนเห็นความสำคัญ และมีความตื่นตัวต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งเป็นภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ และมีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่า ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ และภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ ปัญหายาเสพติดซึ่งนับวันจะมีความซับซ้อน มีเครือข่าย และกลุ่มการค้าพร้อมที่จะกระจายยาเสพติดเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งในการแพร่ระบาดของยาเสพติด การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียนไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข และสร้างจิตสำนึก รวมถึงมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไข เป็นแนวทางและมาตรการที่ต้องคุมเข้ม และดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ตรีนุชกล่าว