เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กับ พว. โดยดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า พว.มีความภาคภูมิใจที่ มศว ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักชั้นนำของประเทศ ได้มาร่วมมือกับ พว.ในการพลิกโฉมประเทศไทย โดยเข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศภายใต้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนปฏิรูปแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยคิดว่าภายใน 1-2 ปีนี้เราจะเห็นผลของความร่วมมือที่จะสร้างเด็กให้สามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถเรียนOnsiteได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า มศว และ พว.เห็นพ้องกัน ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40-50 ปีมานี้ ประเทศไทยกำลังค้นหากระบวนการหรือวิธีการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนไทยให้ทัดเทียมกับความเป็นมาตรฐานสากล แต่เรายังไปไม่ถึง  เพราะเราแก้ปัญหาของประเทศโดยใช้หลักสูตรในการแก้ปัญหา แต่ระยะหลังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า หลักสูตรเป็นเพียงยุทธศาสตร์ เนื้อหาเป็นวัตถุดิบ ขณะที่กระบวนการเป็นกลวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายตามที่หลักสูตรกำหนด แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning กลับหายไป แต่ก็ถือเป็นที่น่ายินดีว่าหลายปีมานี้ทาง มศว ได้นำเรื่องของการเรียนรู้ด้วยกระบวนการแบบ Active Learning มาใช้  ซึ่งจากงานวิจัยสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถพลิกโฉมประเทศได้จริง เปลี่ยนครูได้จริง เปลี่ยนผู้เรียนได้จริง โดยใช้เวลาที่สั้นมาก เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าครูไทยเก่ง และเด็กไทยก็มีความฉลาด แต่ขาดวิธีที่จะพัฒนาทั้งความเก่งและความฉลาดให้เกิดศักยภาพสอดคล้องกับความถนัดของแต่ละคนได้

“จากงานวิจัยต่าง ๆ สามารถระบุได้ว่า Active Learning เป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญในการพลิกโฉมประเทศ  อีกทั้งยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ก(4) ที่กำหนดให้ปรับการเรียนการสอนทุกระดับชั้นให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียน และยังสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นพหุปัญญา รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาก็เน้นการปรับการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning โดยเฉพาะ”ประธานกรรมการบริหาร พว.กล่าวและว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning จะทำให้เราบรรลุเป้าหมาย และเกิดมาตรฐานในการวัดและประเมินผลได้ เพราะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่เกิดผลเชิงประจักษ์ เป็นการเรียนรู้ที่สัมผัสได้จริง เป็นรูปธรรม มีร่องรอยการเรียนรู้ที่นำไปสู่ผลผลิต  ดังนั้นถือเป็นโอกาสดีที่ มศว ได้มาร่วมมือกับ พว ในการพลิกโฉมประเทศให้ประสบความสำเร็จในเวลาสั้น ๆ

ด้าน ดร.รุ่งทิวา แย้มรุ่ง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวว่า วันนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง พว.กับ มศว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้การศึกษาของประเทศก้าวหน้าไปได้ ในฐานะที่ มศว เป็นฝ่ายผลิตก็เหมือนเป็นภาคทฤษฎี ดังนั้นการได้ร่วมมือกับ พว.ก็เป็นเหมือนการนำภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งตนเชื่อมั่นและคาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดี และตอบสนองยุทธศาสตร์ของชาติได้  เพราะเราเชื่อมั่นในตัว พว. และเชื่อมั่นในชื่อว่า สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ อีกทั้งได้ยืนชื่อเสียง พว.มานานแล้ว และก่อนที่จะมีการลงนามความร่วมมือทางมหาวิทยาลัยก็ได้มาดูงานก่อน ซึ่งก็สอดคล้องกับพันธกิจของ มศว ที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นการที่ มศว ได้ร่วมมือกับ พว.เชื่อมั่นว่าจะทำให้พันธกิจและเป้าหมายของเราบรรลุไปด้วยดี

“พว. และ คณะศึกษาศาสตร์ มศว มีแนวทางเดียวกัน คือ คณะมีนโยบายว่า ต้องจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่ผู้เรียน ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเราเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มานานแล้ว โดยมีนโยบายว่าให้อาจารย์ของคณะต้องเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้แบบ  Active Learning แล้วขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยด้วย และเมื่อเราทราบว่า ทาง พว.ก็มีการทำวิจัยเรื่องการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็ถือเป็นความลงตัวพอดี จนทำให้เกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้”คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments