เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ดร.สุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยถึงการดูแลคนพิการของ กศน. ว่า โครงการที่สนองนโยบายรัฐบาล และนโยบายของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั้น ทาง กศน.ซึ่งรับผิดชอบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องดูแลคนอีกกลุ่มหนึ่งต่อยอดจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ก็คือ กลุ่มคนพิการ ที่เราต้องไปหาเขา เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถออกมาเราได้ โดยสิ่งที่ กศน.กำลังดำเนินการ คือ การปักหมุดเพื่อค้นหาคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา
เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กศน.ได้ดำเนินการปักหมุดแล้วใน 24 จังหวัด โดยใช้ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เป็นข้อมูลหลัก ซึ่งสามารถปักหมุดลงไปถึงชุมชนและหมู่บ้าน ทำให้ทราบว่า มีคนพิการจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละพื้นที่ ชุมชน และเป็นคนพิการประเภทไหนบ้าง อีกทั้งยังสามารถแยกได้ด้วยว่าคนไหนกำลังศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ สพฐ.ดูแลอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งส่วนที่นอกเหนือจากนั้น กศน.ก็จะเข้าไปดูแล โดยครู กศน.ตำบลจะลงไปถึงตัวคนพิการ เพื่อสอบถามความถนัดของแต่ละคนว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง บางคนอยากเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เราก็จะจัดให้โดยอาจใช้การเรียนแบบออนแฮนด์ก็ได้ หรือบางคนอาจจะอยากฝึกอาชีพระยะสั้นเพื่อประกอบอาชีพได้ แต่บางส่วนอาจเป็นคนติดเตียงไม่สามารถมาเรียนรู้ได้ เราก็จะฝึกทักษะชีวิตให้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ให้สามารถดูแลตัวเองได้ เป็นต้น
“การดำเนินการที่ผ่านมา ผมได้มอบให้กลุ่มจังหวัด กศน. 18 กลุ่ม ไปปักหมุดในจังหวัดต้นแบบที่มีความพร้อมของแต่ละกลุ่ม โดยขณะนี้สามารถปักหมุดได้แล้ว 24 จังหวัด จากนั้นจะให้จังหวัดต้นแบบขยายผลในกลุ่มจังหวัดของตนเอง เพื่อจะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และจะมีการขยายผลโครงการนี้ไปทั่วประเทศต่อไป เพราะเป็นการตอบโจทย์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม”เลขาธิการ กศน.กล่าว