เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี  ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลการเชื่อมโยงหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจับมือร่วมกันระหว่าง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดย ยกให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เป็นวิทยาลัยฯนำร่องในการพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ (NQF) และตรงตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะ สามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของโลกอาชีพตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว    ของสถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคต เป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และขยายผลการดำเนินงานจากสาขาวิชานำร่องไปสู่ทุกสาขา

ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “กรอบคุณวุฒิแห่งชาติและคุณวุฒิวิชาชีพกับการจัดการอาชีวศึกษาคุณภาพสูง มีแนวทางการดำเนินงาน การนำระบบ Digitalization มาขับเคลื่อน การสร้างพลังร่วมภายในสถานศึกษา การจับมือกันเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อไปสร้าง Partnership กับเครือข่ายภายนอกที่เข้มแข็ง โดยสถานศึกษาต้องมี Micro Engagement คุณครูภายในสถานศึกษาเชื่อมโยงกับภาคสถานประกอบการภายนอกได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ภายในสถานศึกษา เติมเต็มอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานีเป็นสถานศึกษาต้นแบบนำไปสู่สถานศึกษาคุณภาพสูง

ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและคณะทำงานฝ่ายเลขานุการของทีมประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการได้ขยายผลการดำเนินงานในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ นำร่อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นไปตามหลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนอย่างมีคุณภาพ

นายวณิชย์ อ่วมศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในยุคดิจิทัลและแนวทางการส่งเสริมความเป็นเลิศของสถานศึกษา” กล่าวและเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนไทย 4.0 มี 4 ด้าน คือ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์/การคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และทักษะด้านคุณธรรม

ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 บรรยายพิเศษหัวข้อ “ประสบการณ์เทียบเคียงหลักสูตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามแนวทาง “ทีมประเทศไทย”

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชา เพื่อการจัดการเรียนรู้สู่ Future Skill และโลกอาชีพแห่งอนาคต” และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี มีความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตรทุกสาขาวิชา  ให้มีความเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพที่ทันสมัย เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน”

ในการนี้วิทยาลัยฯ ยังได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษหัวข้อ “มาตรฐานอาชีพ/มาตรฐานฝีมือแรงงานในสายอาชีพที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เปิดสอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี” จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (ผ่านระบบออนไลน์) โดย  นางอุษา ศิริสนธิวรรธน ผู้อำนวยการกลุ่มงานกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน สำนักมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและ นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

โดยหลังจากทุกสาขาวิชาได้วิเคราะห์โครงสร้างหลักสูตรและการนำมาตรฐานอาชีพ/มาตรฐานฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว มีการนำเสนอการเชื่อมโยงหลักสูตร โดยหัวหน้าสาขาวิชาหรือผู้แทนสาขาวิชา เป็น 13 กลุ่มสาขาวิชา ดังนี้

สาขาวิชาการบัญชี, สาขาวิชาการตลาด/การจัดการธุรกิจค้าปลีก, สาขาวิชาการจัดการสำนักงาน, สาขาวิชาคอมพิวเตอร์/สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล,สาขาวิชาธุรกิจการบิน, สาขาวิชาโลจิสติกส์/สาขาวิชาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน,สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ/หมวดภาษาอังกฤษ, สาขาวิชาการท่องเที่ยว/สาขาวิชาการโรงแรม/สาขาวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ, สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย, สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ/สาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ, สาขาวิชาการบริหารงานคหกรรมศาสตร์, สาขาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก/สาขาวิชาดิจิทัลกราฟิก และ  สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมกันนี้ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 องค์กรหลัก โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ได้มีมีข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เพื่อเติมเต็มการเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพเป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ด้วย

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments