เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 ที่วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในการเปิดโครงการ “สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดึงเด็กยากจนเข้ากลับมาเรียน
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างโอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้เข้าศึกษาต่อในสายอาชีพ ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ตกหล่น ซึ่งขณะนี้ตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามีประมาณ 100,000 กว่า ที่เราจะต้องดึงเด็กเหล่านี้กลับมาเรียนต่อให้ได้ทั้ง100%
“สอศ.ได้จัดเตรียมงบประมาณปีการศึกษา 2565 สำหรับโครงการนี้ไว้แล้ว โดยสามารถให้การสนับสนุนน้องๆ ที่สนใจเข้าเรียนทางสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 5,200 คน ในวิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเกษตร 87 แห่งโดยเป็นการเรียนฟรี และมีที่พักมาตรฐานให้พักฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 3 ปีของการเรียน อีกทั้งยังสนับสนุนให้น้องๆ มีรายได้ผ่านการจัดทำโครงการหารายได้ระหว่างเรียน รวมถึงการหาแหล่งงานให้ทำภายหลังจบการศึกษาอีกด้วย คาดหมายว่าตลอด 10 ปีของโครงการ จะรับได้จำนวน 8 รุ่น จะมีน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณกว่า 110,000 คน และภายใต้การดูแลของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศรวม 169 แห่ง“รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่าสอศ.ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายศธ. ภายใต้โครงการ “อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ “อาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรี มีอาชีพ” โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา2565 ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 87 แห่ง ทั่วประเทศ โดยสามารถรับปริมาณนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้จำนวน 5,200 คน ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการฯ ให้ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 169 แห่ง ทั่วประเทศ โดยสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน จำนวนรวมทั้งสิ้น 116,000 คน
เลขาธิการ สอศ. กล่าวต่อไปว่า โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่นักเรียนสายอาชีพ ที่มีฐานะยากจนขาดโอกาสทางการศึกษา ในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษา มีทักษะวิชาชีพ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณผู้เรียน สร้างทางเลือกสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีความสนใจในการเรียนต่อสายอาชีพ
“เด็กกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาไปแล้ว คือ จบม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งตกค้างมาหลายปี จะสามารถเข้ามาเรียนในโครงการนี้ได้ทั้งการศึกษานอกระบบและการศึกษาปกติ และ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่กำลังจะจบ ม.3 ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ตกหล่นจากระบบการศึกษา เนื่องจากวิเคราะห์แล้วพบว่ามีเด็กที่คาดว่าจะตกหล่นจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุหลักคือเรื่องของฐานะทางครอบครัวที่ยากจน และความไม่พร้อมในการศึกษาถึงแม้จะมีโครงการเรียนฟรี15 ปี แต่ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเรียน ทั้งค่าอาหารค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นอีก แต่โครงการนี้จะมีทั้งหอพักให้อยู่ฟรี มีอาหารเลี้ยง 3 มื้อและยังให้เด็กทำงานหารายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย “ดร.สุเทพ กล่าว
ด้านนายธีรศักดิ์ อรุณวัชรพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง กล่าวว่าวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง เน้นบริหารจัดการศึกษา ภายใต้แนวคิด “การอาชีพ…เพื่อชุมชน” ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กที่มีต้นทุนชีวิตไม่มาก ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อสายอาชีพ ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่ เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ม้ง อาข่า กะเหรี่ยง จากดอยสูงสู่การเรียนรู้ 7 สาขาวิชาอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในศาสตร์ที่ผู้เรียนมีความสนใจ โดยวิทยาลัยการอาขีพป่าซาง เป็นวิทยาลัยที่ร่วมโครงการระยะแรก ขอให้ผู้ปกครองวางใจและเชื่อมั่นในการระบบการบริหารจัดการ หอพักวิทยาลัยฯทั้งความปลอดภัยและการเอาใจใส่ของครูพี่เลี้ยง ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในทุกมิติ