เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.ศธ.)สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ได้แก่กระทรวงมหาดไทย (มท.)กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.)และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาคน ให้พร้อมสำหรับการพัฒนาในศตวรรษที 21 กิจกรรมนี้สอดคล้องกับการสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ดีใจที่เห็นความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่พยายามให้โอกาสเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และเด็กที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเลย ทั้งเด็กปกติและเด็กพิการได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง หลังจากนี้ เราจะคืนโอกาสให้กับเด็ก ๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดระบบนอกระบบต้องเป็นศูนย์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลายคนออกจากระบบการศึกษาเพราะความจำเป็น ไม่ใช่แค่สถานการณ์โควิด เป็นบริบทโดยรวมที่เราต้องช่วยกันหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะตอนนี้มีการเรียนที่หลายรูปแบบทั้งออนไลน์ ออนไซต์ สิ่งสำคัญต้องดูแลความพร้อมผู้ปกครอง ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอหรือไม่ เพราะบางครอบครัวแม้มีค่าเล่าเรียนให้ แต่ผู้ปกครองขาดแรงงานในบ้าน เป็นปัญหาลึกซึ้งที่ต้องลงไปช่วยดูแล โครงการนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่ช่วยกันสร้างทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในทางตรง มีหลายหน่วยงานเข้าร่วม แต่การใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่เพียงพอและเราไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น แต่ละหน่วยงานต้องช่วยกันดูแลใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ความร่วมมือครั้งนี้ ตนถือว่า เป็นของขวัญสำคัญที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนไทย การให้โอกาสทางการศึกษาเรื่องใหญ่ ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ปัจจุบันเรามีกองทุนฯหลายประเภท แต่การให้เงินกองทุนฯแล้วเด็กยังเรียนในสถ่านศึกษาเดิมที่ไม่มีคุณภาพ ก็ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำได้ว่า ศธ.มีนโยบาย ทำโรงเรียนดีมีคุณภาพ ลดโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อกระจายการใช้จ่ายงบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งหมดนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจร่วมกัน ทำให้เกิดความสำเร็จ หลังจากนี้ เราจะคืนโอกาสให้กับเด็ก ๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยการพาเด็ก ๆกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดระบบต้องเป็นศูนย์
“สิ่งที่กังวล คือ ต้องสอนให้นักเรียนมีความคิดที่ดี มีการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยคิดและเตรียมพร้อมพัฒนาตัวเอง และสังคม เพราะไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ต้องพูดกับเด็กให้เข้าใจ ว่าสิ่งที่ได้มานั้น ไม่ได้ง่าย ไม่เช่นนั้นก็จะคิดกันง่าย ๆ ทำให้เกิดปัญหา เรียนมาจบแล้วยังไม่ทำงานก็สร้างหนี้สิน วันนี้มีหลายอย่างที่ทำรายได้เข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว กีฬา ส่งออก ฯลฯ นั่นคือโอกาสและช่องทาง แต่ทำอย่างไรจะมีคนเข้าไปช่วยพัฒนาตรงจุดนั้น ต้องเร่งสร้างความคิด สร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวความคิดนี้ให้เกิดขึ้นในเด็กให้ได้ ว่า โตขึ้นจะช่วยตัวเอง และดูแลพ่อแม่อย่างไร ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมในอนาคต ไม่สร้างความเดือดร้อน ตั้งใจเรียนหนังสือ การสร้างโอกาสทางการศึกษาต้องเน้นทั้งโอกาส คุณภาพ และความพร้อมผู้ปกครอง สิ่งสำคัญที่รัฐบาลกำลังคือ การแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือน ซึ่งผมได้ให้แนวทางปฏิบัติไปแล้ว ต้องลงไปดูให้คำปรึกษาสนับสนุนในทางที่ถูกต้อง ฝากไว้ว่า อุปสรรค มีไว้ฝ่าฟัน ปัญหามีไว้แก้ไข อย่าท้อแท้ อะไรที่ไม่ดี อะไรเป็นประวัติศาสตร์ที่ดีก็เรียนรู้ อย่าบอกว่าประวัติศาสตร์ไม่สำคัญ ผมให้แนวคิด ถ้าเราจะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ต้องรู้ว่า ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ถ้าสอนวิทยาศาสตร์ก็ต้องรู้ว่า จะเกิดประโยชน์อย่างไร ดัดแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลก ความขัดแย้ง สงคราม และทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ทะเลาะกัน เพราะเห็นแล้วว่า ความขัดแย้งทำให้ประเทศเสียหาย ทุกอย่างเกิดจากความไม่สามัคคีกลายเป็นความขัดแย้งระดับต่ำจนถึงระดับสูง ครูต้องสอนใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ชาติไทย บทเรียนแต่ละเรื่อง ต้องรู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ตัวเอง สังคม ประเทศชาติได้อะไร ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษา ศธ. ต้องไปดูว่าจะปฏิรูปอย่างไรที่ไม่ต้องใช้งบจำนวนมาก ระมัดระวังค่าใช้จ่าย เพราะนายกฯต้องคุมงบทั้งหมดให้อยู่ในวินยการเงินการคลัง โครงการที่ไม่คุ้มค่าต้องถูกตัดออก ช่วงนี้อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณ 2566 ต้องจัดระบบให้ดี จะไม่เกิดความเสียดาย เพราะทั้งหมดคงไม่มีเงินให้ เพราะรัฐบาลตั้งวงเงินงบไว้ 3.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นต้องลำดับความสำคัญให้ดี ไม่ใช่เลือกแต่โครงการใหญ่ ๆ เพราะบางครั้งโครงการเล็กๆ ก็มีความสำคัญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ.เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่าน โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กปัจจุบัน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยจำนวนนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาปี 2564 มีมากถึง 238,707 คน เมื่อแบ่งตามสังกัด พบว่าสังกัด สพฐ. มากที่สุดคือ 78,003 คน รองลงมาสังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม.จำนวน 54,513 คน สังกัด สป.ศธ. จำนวน 50,592 คนซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกมาตลอด 2 เดือน สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้127,952 คนเพราะฉะนั้นยังมีเด็กที่หลุดจากระบบอีกจำนวน 110,755 คน
“ศธ.มีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อ ‘ตามน้องกลับมาเรียน’ เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด และจะได้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดกับทุกเคสทุกกรณีต่อไป เบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ในวันนี้ ให้ช่วยติดตามเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว