นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 8/2561 วันที่ 17 ส.ค. ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่สำคัญดังนี้
1. เห็นชอบให้ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษตามข้อ 3 ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ส.ค. 2561 มีอำนาจสั่งลงโทษลดเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครั้งหนึ่งไม่เกินหนึ่งขั้นไปพลางก่อน จนกว่ากฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … มีผลบังคับใช้
2. เห็นชอบให้นำการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 5 ลงวันที่ 27 เม.ย.2561 มาใช้สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)
3. เห็นชอบให้แก้ไขข้อความในหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ ว 22 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2560 ดังนี้
1) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้ประเมินตนเอง พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาตนเองเป็นรายปีตามแบบที่ส่วนราชการกำหนด และเข้ารับการพัฒนาตามแผนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในรอบ 5 ปีที่ขอรับการประเมินให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ต้องมีจำนวนชั่วโมงการพัฒนา 100 ชั่วโมง หากมีจำนวนชั่วโมงการพัฒนาไม่ครบ 100 ชั่วโมง แต่ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง สามารถนำจำนวนชั่วโมงการมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ส่วนที่เกิน 50 ชั่วโมงในแต่ละปี มานับรวมเป็นจำนวนชั่วโมงการพัฒนาให้ครบ 100 ชั่วโมงได้
2) หลักสูตรการพัฒนาต้องมีองค์ประกอบด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านความเป็นครู และด้านคุณลักษณะที่คาดหวัง โดยต้องเป็นหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองตามมาตรฐานวิทยฐานะ หรือตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ทั้งนี้ สามารถนำจำนวนชั่วโมงการพัฒนาที่เข้ารับการอบรมในสถาบันวิชาการอื่น ๆ เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณารับรองได้ โดยให้ส่วนราชการเสนอหลักสูตรพัฒนาเพื่อให้ ก.ค.ศ. พิจารณารับรอง
นอกจากนี้ยังรับทราบความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปเพื่อการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประประเภท โดย ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนินการสอบภาค ก ทั้งหมด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันกับผู้แทนจากองค์กรกลางบริหารงานบุคคลทุกประเภทแล้ว โดยภาพรวมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้บุคลากรภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกัน มีความโปร่งใสในการเข้าสู่ระบบราชการ ลดภาระผู้สนใจเข้ารับราชการในภาพรวม ทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และการเดินทาง และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดำเนินการสอบ โดยปฏิทินการสอบ เห็นควรให้มีการสอบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง สำหรับภาค ข และภาค ค เป็นรายละเอียดที่แต่ละองค์กรจะไปกำหนดให้มีความสอดคล้องกับความต้องการบุคลากรของตนเอง