เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย โดย ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)และ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)
โดย ดร.พีรศักดิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษา คือ ทำอย่างไรครูจะสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กออกมาให้ได้ ดังนั้นการที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจเนื้อหาสาระ และมีความสนุกในการเรียนจึงมีความสำคัญ ซึ่งการเรียนแบบ Active Learning คือคำตอบ เพราะเป็นการเรียนที่ให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ทำให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ และมีทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ ซึ่งเวลานี้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งจัดการเรียนการสอนได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็จำเป็นต้องยกระดับให้มากขึ้น และขยายผลไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการที่ทาง พว.จัดฝึกอบรมครูให้กับโรงเรียนเอกชน โดยจะมีการติดตามประเมินผลและโค้ชชิ่งอย่างต่อเนื่องจะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้
“หลังจากนี้สช.จะทำหนังสือเชิญชวนโรงเรียนเอกชนต่าง ๆ ที่สนใจร่วมโครงการพัฒนาครูในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อทำให้เด็กเกิดสมรรถนะตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งเชื่อว่าจะมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วม โดยการทำความร่วมมือของสภาสมาคมฯกับ พว.ครั้งนี้ถือเป็นการปักหมุดเดินหน้าการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสรรถนะ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ”เลขาธิการ กช.กล่าว
ดร.จิระพันธุ์ กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning จะช่วยให้เรียนรู้อย่างมีความสุข และพัฒนาความรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ สร้างแนวคิดให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ ขณะเดียวกันครูอาจารย์ก็สามารถจัดการเรียนได้อย่างหลากหลายเหมาะสมกับความแตกต่างของผู้เรียน ที่สำคัญการสร้างนักเรียน บุคลากรหรือผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องเกิดจากการรู้ที่ส่งเสริมผู้เรียนให้กำหนดเส้นทางของตนเองอย่างมีความหมาย ความร่วมมือครั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานมีความมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการพัฒนาการศึกษาของชาติให้ดีขึ้น โดย พว.มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ สื่อต่าง ๆ วิทยากร และอื่น ๆ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้ในโรงเรียนมีประสิทธิผลมากขึ้น
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สืบเนื่องมาจากองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 จ (4 ) แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มีการพลิกโฉมประเทศให้มีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ มีศักยภาพในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างราบรื่น ซึ่งในภาพรวมของโรงเรียนเอกชนมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องของ Active Learning อยู่แล้ว ดังนั้นคิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ในการต่อยอดพัฒนาโรงเรียนที่มีพื้นฐานอยู่แล้วได้ โดยคิดว่าไม่น่าเกิน 5 เดือน เราจะสามารถเปลี่ยนผู้เรียนให้เป็นนวัตกรที่จะสร้างนวัตกรรมได้อย่างแน่นอน
“ในฐานะที่ พว.ได้พัฒนาเรื่องการเรียนรู้แบบActive Learning มาอย่างยาวนาน ทำให้มีเครื่องไม้เครื่องมือ และมีความพร้อมรวมถึงมีวิทยากรมากกว่า 200 คนที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพโรงเรียนเอกชนให้ดียิ่งขึ้นเพื่อสู่การแข่งขันในระดับนานาประเทศ คิดว่าต่อไปทุกโรงเรียนต้องเดินไปในทิศทางนี้ เพราะเป็นทิศทางที่ทำให้เกิดผลของการเรียนรู้เชิงประจักษ์ เป็นการเรียนรู้ที่จับต้องได้ ซึ่งเลยเรื่องของคะแนน การสอบในห้องเรียนไปแล้ว เชื่อว่าผู้ปกครองทั้งประเทศก็คาดหวังสิ่งนี้ ดังนั้นทุกโงเรียนก็ต้องเดินมาทางนี้จะช้าหรือเร็วก็ต้องมา เพราะวิธีการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้แบบสากล เพียงแต่เรียนวิธีการที่ลุ่มลึกเหนือกว่าประเทศอื่น นั่นคือ กระบวนการ GPAS 5 Steps ที่จะถักทอสร้างความรู้ที่ครอบคลุมหลักการการสอนทั้งหลาย ไม่ว่าการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นพัฒนาการเรียนรู้ของสมอง เน้นการใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน การสร้างความรู้ด้วยผู้เรียนเอง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้ผ่านการวิจัยมาหลายครั้งจากหลายมหาวิทยาลัย จนเห็นผลเชิงประจักษ์ เกิดเป็นนวัตกรรมของผู้เรียนจริง ๆ และทำให้การเรียนรู้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมอย่างเป็นรูปธรรม”ดร.ศักดิ์สินกล่าว