ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประกาศผลการคัดเลือกทีมตัวแทนอาชีวศึกษา เพื่อเข้าร่วมการแกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 : The 14th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2022 ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮารบิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปีนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮารบิ้น จึงจัดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ โดยหัวข้อที่กำหนดในการคัดเลือกครั้งนี้ คือ “ มีความฝัน สู่อนาคต ด้วยความฝัน เพื่ออนาคต” (Having Dreams, to the Future. With Dreams, For Future) และมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ และสื่อถึงงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีคำขวัญ ว่า ร่วมกันเพื่ออนาคตร่วมกัน แสดงให้เห็นจุดยืนที่เข้มแข็งของมวลมนุษยชาติเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก (Together for a Shared Future, showing the strong stance of mankind in the face of plight)
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่าทีมที่มีคอนเซ็ปต์ (Concept) แนวคิดที่สอดคล้อง กับข้อกำหนด มีทักษะฝีมือในงานประติมากรรม การแกะสลัก และการนำเสนอ ฯลฯ ตามเกณฑ์การตัดสิน ที่มีคะแนนสูงสุดได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ผลงาน The Hero หัวใจสิงห์ผู้ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผลงาน ก้าวฝ่าวิกฤติสู่ความฝันแห่งอนาคต และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ผลงาน นางฟ้าของฉัน โดยมีทีมวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ผลงาน ชัยชนะรวมโลกเป็นหนึ่งเดียว วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ผลงาน พลังแห่งการรวมกัน และทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี ผลงาน ศาลายาไทยในอนาคต ได้รับรางวัลชมเชย
สำหรับ ผลงานชนะเลิศ “The Hero หัวใจสิงห์ผู้ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา” วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ผลงานของ นายธนพล ภูทองเงิน นายพรรณภัทร สมพงษ์ และนายพรรษา สายยาใจ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมี นายวสัตน์ เมฆฉาย เป็นครูผู้ควบคุม ได้รับแรงบันดาลใจ ผ่านภาพความสำเร็จของนักกีฬาพิการในการแข่งวีลแชร์ของไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมหกรรมกีฬาโลก พาราลิมปิกเกมส์ 2020 เป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความฝันและความพยายามฝ่าฟันเอาชนะความยากลำบากจากข้อจำกัดในร่างกาย ปลดปล่อยพลังชีวิตเพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจตนเอง แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งให้ปรากฎต่อมวลมนุษยชาติ ให้มีกำลังใจและมองเห็นความฝันในอนาคตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสร้างให้เป็นจริงได้ ลูกล้อวีลแชร์ที่ถูกปั่นด้วยความเร็วทะยานไปข้างหน้าเหมือนจะโบยบินได้ ดั่งนกพิราบขาวได้ประกาศเสรีภาพแห่งชีวิตให้ประจักษ์ไปทั่ว พร้อมกับเชิญชวนเพื่อนมนุษย์ร่วมกันนำอนาคตที่สดใสมาสู่โลกอีกวาระหนึ่ง รูปมือที่โอบอุ้มคือสัญลักษณ์ของความร่วมมือกันของมนุษยชาติที่จะเอาชนะความยากลำบาก จังหวะของเส้น และรูปทรงที่ดูเคลื่อนไหว พุ่งทะยานไปสู่จุดหมายเดียวข้างหน้า แสดงถึงพลัง ความเร็ว และความอิสระ มุ่งสู่ปลายทางที่อยู่เบื้องบน เพื่อสื่อให้เห็นถึงแนวคิดว่า ไม่มีใครกำหนดชีวิตที่เกิดมาในอดีตของตนเองได้ แต่การรู้จักตนเองและการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก และคาดหวังเอาไว้คือการสร้างชีวิต สู่อนาคต ที่เป็นจริงได้
ผลงานรองชนะเลิศอันดับ 1 “ก้าวฝ่าวิกฤติสู่ความฝันแห่งอนาคต” วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผลงานของนายอำพล ธรรมทอง นายสุภาพ ชารีเครือ และนายอนันต์ แสงสว่าง นักศึกษาปวช. 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมีนายสระชาติ พละศักดิ์ เป็นครูผู้ควบคุม ซึ่งมีแนวคิดจากที่ว่า มนุษยชาติทั้งหลายล้วนเกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่บนกฎเกณฑ์ของกรอบกติกาที่กำหนดขึ้นในแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน มีอุปสรรคไว้ฟันฝ่าก้าวข้ามไปสู่อนาคต โดยมีความฝัน ความหวัง เป็นเครื่องนำทาง เพื่อไปสู่อนาคต อันเป็นเป้าหมายสำเร็จสูงสุด ของมวลหมู่มนุษยชาติทุกคน ที่ปรารถนา อยากให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนสังคม โลก ให้การยอมรับยกย่องเชิดชู ถ้าเปรียบเทียบการใช้ชีวิตดั่งเช่นการแข่งขันกีฬา เป้าหมายคือรางวัลที่จัดไว้ตามลำดับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งมีขีดจำกัดไม่เท่ากัน กว่าจะมาถึงจุดเป้าหมายของรางวัลที่คาดหวัง นักกีฬาทุกคนต้องมีระเบียบวินัย ยึดถือกติกาข้อตกลงที่สากลกำหนด จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้มีชัยชนะที่ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง จากประเด็นดังกล่าว ทีมผู้สร้างได้ใช้รูปทรงของสถาปัตยกรรม และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ นำมาจัดองค์ประกอบศิลป์ ผสมผสานให้ลงตัว เพื่อสื่อความหมายดังนี้ สถาปัตยกรรมสนามกีฬารังนก สื่อถึง สัญลักษณ์แห่งความหวังของมนุษยชาติ รูปสัญลักษณ์ผลึกน้ำแข็ง สื่อถึง ความสุจริตใสบริสุทธิ์ดุจนำแข็งและหิมะ รูปทรงคบเพลิงโอลิมปิก 2022 สื่อถึง คบเพลิงศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถูกจุดโดยแสงอาทิตย์ เป็นจุดกำเนิดการก่อเกิดความเจริญงอกงาม โชติช่วงชัชวาลแห่งอนาคต สัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ที่ชื่อว่า “ตงเมิ้ง” หรือความฝันแห่งฤดูหนาว รูปทรงคล้ายคนเล่นสกี สื่อถึงความรื่นรมย์ และเป็นสัญลักษณ์จุดนัดพบของนักกีฬาตามล่าฝันแห่งฤดูหนาวสัญลักษณ์สากลของกีฬาโอลิมปิกรูปทรง 5 ห่วง สื่อถึงการรวมตัวกันของคนจาก 5 ทวีป ยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ เอเชีย และออสเตรเลีย รูปทรงกำแพงเมืองจีน สื่อถึง ความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่ท้าทายรูปทรงธงชัย เรียงลำดับทับซ้อน 3 ลำดับ สื่อถึง เป้าหมายแห่งความสำเร็จหรือชัยชนะ
และ ผลงานรองชนะเลิศอันดับ 2 “นางฟ้าของฉัน” วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ผลงานของนางสาวนริศรา พริกนุ่น นางสาวชนากานต์ ใจงาม และนายพัชรพล สารภี นักศึกษาปวช. 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมีนายพฤติพงษ์ วงศ์วรรณา เป็นครูผู้ควบคุม มีแนวคิดมาจากสถานการณ์ ของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดหนักตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ไวรัสชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกประเทศ ทั่วโลก เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) แพร่กระจายออกไป จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มองเห็นแสงสว่างจากหัวใจของผู้คนในความเสียสละ “บุคลากรทางการแพทย์” ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการต่อสู้ แข่งขันกับโรคร้ายให้ทุกคนบนโลกปลอดภัย เสมือนกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่หากจะเป็นการต่อสู้แข่งขันระหว่างมนุษยชาติ กับ เชื้อโรคร้าย โดยผลงานประติมากรรมนางฟ้า เปรียบเป็นตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน เป็นนางฟ้าในดวงใจของคนทั้งโลก กำลังประคองน้ำดื่มให้กับเหล่าหงส์ที่ได้รับบาดเจ็บเปรียบได้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และเราจะก้าวผ่านสิ่งร้ายๆ ไปด้วยกัน เพื่อความฝันสู่อนาคตที่ทุกคนจะกลับมาปกติสุขด้วยกันอีกครั้ง