เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา(วอศ.)อุดรธานี เปิดเผยว่า ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี ให้เปิด แบบ On-Site และได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และศูนย์ความเป็นเลิศ Excellent Center สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี โดยทั้ง 2 สาขา ได้ทำการเชื่อมโยงหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบอ้างอิงคุณวุฒิอาเซียน (AQRF) ได้เทียบเคียงให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)
“ วิทยาลัยฯ ได้ให้ข้อมูลถึงการนำนวัตกรรมและมาตรฐานอาชีพ ทั้งในประเทศและมาตรฐานสากลมาจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งมีการระดมทรัพยากรจากภาคประกอบการมาร่วมจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงภายในสถานศึกษาหรือโรงงานในโรงเรียนโดยให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง อีกทั้งสถานศึกษามีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม หากได้รับการสนับสนุนอาคารปฏิบัติการด้านธุรกิจและโรงแรมจะทำให้นักเรียนมีแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพมากยิ่งขึ้นต่อไป” ผอ.วอศ.อุดรธานี กล่าว
ทั้งนี้ทางวิทยาลัยฯ ดร.นิติยังได้กราบสักการะ “องค์ศรีสุขคเณศ” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนทุกสาขาอาชีพ และยังเป็นพระพิฆเนศองค์แรกที่รวมบารมีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุดรธานีที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี และเข้าเยี่ยมชม Beyond Cafe @UDVC แหล่งเรียนรู้เพื่อการฝึกอาชีพ ภายใต้โครงการความร่วมมือการจัดการด้านอาชีวศึกษา ระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานีกับ บริษัท BEYOND CAFÉ จำกัด ซึ่งการทำความร่วมมือจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา สาขาวิชาต่างๆ อาทิ สาขาคหกรรมศาสตร์ สาขาการโรงแรม สาขาการบัญชี สาขาอาหารและโภชนาการ และสาขาการตลาด โดยสถานประกอบการได้สนับสนุนงบประมาณ ครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับครูผู้สอนรวมถึงให้นักศึกษา ได้ฝึกอาชีพ และฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงด้วย