ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตาม การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ 15-16พฤศจิกายน2564 ว่า ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อติดตามโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ของวิทยาลัยเทคนิคพังงา ซึ่งได้พบปะนักเรียนโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา และนักเรียนในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกองทุนเพื่อความเสมอภาค (กสศ.) โดยการประชุมผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้รายงานถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา และต้องการที่จะยกระดับวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงาให้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรผู้มีความสามารถทางเทคโนโลยีที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ระยะที่ 3 และเร่งศึกษา วิจัย ข้อมูล ในเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงาโดยจะแยกออกจากวิทยาลัยเทคนิคพังงา และจะใช้ชื่อเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานนวัตกรรมพังงา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนบุคลากรให้มีประสิทธิภาพทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาไทยต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงาเปิดการเรียนการสอนสาขางานเทคโนโลยีการท่องเที่ยว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 จนถึงปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 12 มีนักเรียนจำนวน 168 คน และในปีการศึกษา 2563 ได้เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร มีนักเรียนจำนวน 40 คน รวมจำนวนนักเรียนในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น 208 คน และในปีการศึกษา2565 จะดำเนินการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นปีแรกจำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีการจัดประชุม นิทรรศการและอีเว้นต์ จำนวน20 คน และสาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จำนวน 20 คน โดยในช่วงแรกจะรับนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ประเภททุน ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. 5 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งขณะนี้นักเรียนทุนสาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยวรุ่นที่ 1 กำลังจะจบการศึกษาในระดับ ปวช.ปีที่ 3 และจะเข้าศึกษาต่อในระดับปวส.ในปีการศึกษา 2565
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปอีกว่า การลงพื้นที่ติดตามในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโครงการเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ที่ตั้งใจสั่งสอนอบรมดูแลจนนักเรียนได้สร้างเกียรติประวัติทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น นักเรียนรางวัลพระราชทาน 5 ปีซ้อน รางวัลชนะเลิศการประกวดแผนธุรกิจระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะสะเต็มศึกษาระดับชาติ รางวัลรองชนะเลิศการนำเสนอรายการนำเที่ยวและการกล่าวสุนทรพจน์ภาษาจีนระดับชาติ รางวัลชนะเลิศโครงการ CDD Young Designer Contest รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติในงาน The International Convention on Vocation Innovation Project เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบัน ยังมีศิษย์เก่าในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์กลับมาเป็นครูจำนวน 7 คน ซึ่งจะยิ่งช่วยทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโครงการรูปแบบProject based learning มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้คุณหญิงกัลยาพร้อมคณะยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานนวัตกรรม และการจัดการเรียนแบบ Project-Based learning (PjBL) การสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมSTEAM for INNOPRENEUR ตลอดจนเยี่ยมชม“ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์สาขางานเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นสาขาเปิดใหม่ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังคนตอบสนองทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เป้าหมายของประเทศ(S-Curve) ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดพังงาในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจะเปิดรับนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีการศึกษา 2565 โดยวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดพังงาและสถานประกอบการด้านการโรงแรม ท่องเที่ยวและสปาชั้นนำของประเทศ
วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา มีการจัดเรียนการสอนในลักษณะของโรงเรียนประจำ เปิดสอนในสาขาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์(เทคโนโลยีการท่องเที่ยว) โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงและมีมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยในเครือข่ายความร่วมมือ มีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ซึ่งผู้สอนจะนำสาระและทักษะพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวมทั้งทักษะด้านวิชาชีพมาบูรณาการจัดทำเป็นโครงงาน หรือ โปรเจกต์ (projects) ภายใต้การจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based learning ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยบูรณาการร่วมกับ STEAM for Innopreneur ที่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการนำแนวคิดเชิงนวัตกรรมมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม