เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่จังหวัดกระบี่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน ตามโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” ของสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้จัดทำระบบสารสนเทศสถานศึกษาในการค้นหาเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยใช้ Google Maps ปักหมุดสถานที่ (Location) ที่บ้านของนักเรียน พร้อมทั้งเพิ่มรายละเอียดข้อมูลพื้นฐาน และรูปภาพของผู้รับบริการลงในระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของตนในการเพิ่มโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาของประชากรวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในส่วนของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้มุ่งแก้ปัญหาให้เด็กพิการในวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยปักหมุดบ้านเด็กพิการทั่วประเทศ และให้ความช่วยเหลือให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือด้านการศึกษา ด้านคุณภาพชีวิต และด้านสุขภาพ
“ วันนี้ดิฉันได้ติดตามจากการปักหมุด มาเยี่ยม น้องหนูนา หรือ ด.ญ.ปาลิตา บุตรสันอายุ 6 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นเด็กพิการซ้อน แรกเริ่ม โดยพบว่า มีความพิการซ้อนตั้งแต่กำเนิด และเข้ามารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกระบี่ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา น้องหนูนาได้รับการประเมินคัดกรอง ตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล(Individual Education Program : IEP) ฟื้นฟูสมรรถภาพและทำกายภาพบำบัด จนสามารถปรับพฤติกรรมทางอารมณ์ พัฒนาการทางด้านร่างกายที่ดีขึ้นจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงได้ปรับลดเวลามารับบริการที่ศูนย์ฯ สัปดาห์ละ 2 วัน ตามความสะดวกของผู้ปกครอง จนกระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ทางศูนย์ฯ จึงได้ปรับการเรียนโดยครูประจำชั้นได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล พร้อมติดต่อผู้ปกครองมารับสื่อ ใบงาน ชุดกิจกรรม แบบฝึก และก่อนการสอนครูประจำชั้นจะติดต่อ สื่อสารกับผู้ปกครองผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และโทรศัพท์ แจ้งว่าจะสอนอะไรบ้าง ให้พ่อแม่เตรียมอุปกรณ์ พร้อมให้คำแนะนำผู้ปกครองในการฝึกผู้เรียนที่บ้าน ขณะเดียวกันครูไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อสังเกตจากพฤติกรรม อารมณ์ และผลสำเร็จระหว่างการสอน รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองรายงานผลการจัดการเรียนการสอนทุกวันจันทร์ เพื่อให้คำแนะนำและติดตามผลการเรียนร่วมกันอย่างใกล้ชิด” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้เห็นสภาพจริงและความตั้งใจของครูและบุคลากรที่ทำงานในหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการทางการศึกษาแก่เด็กพิการ เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ตั้งแต่แรกเกิด หรือแรกพบความพิการ จนถึง18 ปี ในชุมชนที่อยู่ห่างไกล ผู้ปกครองมีฐานะยากจนมีความยากลำบากในการเดินทางมาส่งบุตรหลานที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ซึ่งปัจจุบัน สพฐ. ได้จัดตั้งหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษใน 76 จังหวัด จำนวน 624 หน่วยบริการ กระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้ดำเนินงานตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยมีกลุ่มเป้าหมายให้เด็กพิการ ซึ่งรับบริการที่บ้านแล้วมากกว่า 9,500 คนทั่วประเทศ
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัยเป็นอย่างยิ่ง โดยในส่วนของการศึกษาพิเศษ เราจะเดินหน้าค้นหาเด็กที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เมื่อแรกพบจะส่งเสริม สนับสนุน ครูศูนย์การศึกษาพิเศษให้คำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลช่วยเหลือเด็กพิการในช่วงที่อยู่ที่บ้าน สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายระหว่างกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ ตนได้มีนโยบายให้ สพฐ. ขยายการจัดตั้งหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศต่อไป พร้อมทั้งประสานให้ความช่วยเหลือครอบครัวเด็กพิการ ในด้านคุณภาพชีวิตกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) เป็นต้น เพื่อให้เด็กพิการได้รับการช่วยเหลือครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.