ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ… และ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ…. ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดพิเศษ โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ เป็นประธาน และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้งปลายเดือน ส.ค.นี้ และนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้นเดือน ก.ย. Lซึ่งคาดจะใช้เวลาพิจารณากฎหมาย ประมาณ 3 เดือน และจะสามารถประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรี กำหนดกรอบเวลาไว้ ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำในที่ประชุม ครม. ว่า ขอให้ดำเนินการให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด และใช้เวลาการเปลี่ยนผ่าน เพื่อโยกย้ายบุคลากร จัดการโครงสร้างต่างๆ อีกประมาณ 3 เดือน กระทรวงใหม่ก็จะเริ่มทำงานได้จริง ประมาณ เดือน ก.พ.2562 ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า เมื่อมีการประกาศจัดตั้งกระทรวงใหม่แล้ว ก็น่าจะมีรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเพื่อเริ่มทำงานทันที แต่หากจะให้รัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินการ ก็ได้เช่นกัน แต่ก็จะทำให้เสียเวลาไป 3 เดือน ส่วนคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นรัฐมนตรีนั้น ก็น่าจะเป็นคนที่มีความเข้าใจงานการอุดมศึกษา และมีความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมจะต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ ด้วย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่งนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการแต่ยังไม่ลงตัวเรื่องจะให้หน่วยงานที่จัดสรรงบฯวิจัย ควรอยู่ในกระทรวงหรือนอกกระทรวงจึงจะเหมาะสม ซึ่งขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก ให้หน่วยงานที่จัดสรรงบฯวิจัย อยู่ในกระทรวงการอุดมฯ ซึ่งมีข้อดีคือ ความเชื่อมโยงของนโยบายและการปฏิบัติ เพราะอยู่ในกระทรวงเดียวกัน แต่มีข้อห่วงใยว่า อาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหน่วยงานที่ให้งบฯวิจย และหน่วยงานที่รับเงินวิจัยคือ มหาวิทยาลัย อยู่ในกระทรวงเดียวกัน แต่สามารถแก้ไขได้โดยกำหนดภารกิจให้ชัดเจน และมีบอร์ดวิจัยที่ รัฐมนตรี ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนแนวคิดที่ 2 คือ ให้หน่วยงานจัดสรรงบฯวิจย อยู่นอกกระทรวง แต่กำหนดแนวทางนโยบายให้มีความเชื่อมโยงกับกระทรวง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเกี่ยวกับทั้ง 2 แนวทาง ซึ่งหาก กฤษฎีกา ไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็จะยกร่าง พ.ร.บ.ไว้ทั้ง 2 แนวทาง และให้ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่ากระทรวงใหม่ที่เราออกแบบ จะเป็นกระทรวงที่เล็ก คล่องตัว มีประสิทธิภาพ หน่วยงานส่วนใหญ่จะผลักดันให้เป็นองค์การมหาชน เช่น กรมวิทยาศาสตร์และบริการ จะวางกรอบให้เป็นองค์การมหาชน ภายใน 3 ปี ส่วนหน่วยงานที่เป็นส่วนราชการ จะเหลือเพียงสำนักงานปลัดกระทรวง เพียงหน่วยงานเดียว สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฎ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จะผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ สำหรับโครงสร้างในภาพรวมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนงานการอุดมศึกษา และส่วนงานวิจัยและนวัตกรรม โดยแต่ละส่วนจะมีกฎหมายเป็นของตนเองแต่จะมีความเชื่อมโยงกัน โดบมีคณะกรรมการหรือบอร์ดเป็นของตนเอง ได้แก่ คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่กระทรวงใหม่ดูแลนั้น คิดเป็นร้อยละ 80 ของงานวิจัยทั้งประเทศ ส่วนร้อยละ 20 เป็นงานวิจัยและการอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การดูแลงานวิจัยในภาพรวมระดับประเทศ จะมีคณะกรรมการระดับประเทศดูแล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน