เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2564 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยกรณีเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาหลังนักศึกษา ปริญญาตรี ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวนกว่า 13,000 คน ตกหล่นไม่ได้รับเงินเยียวยา จากโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครองนักเรียนและนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 2,000 บาท ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำหนังสือหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ได้รับเงินเยียวยา 2,000 บาท แต่ทางสภาพัฒน์ฯ ตอบกลับมาว่า การช่วยเหลือเยียวยานักศึกษาระดับปริญาตรีในสังกัด สอศ. ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยเกณฑ์ที่อว.กำหนด คือ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 50 ส่วนตั้งแต่ 50,001–100,000 บาท ช่วยเหลืออัตราร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 10 โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4
“ขณะนี้ สอศ.ได้ทำเรื่องถึงสภาพัฒน์ฯ ดำเนินการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของ อว. ไปแล้ว เพียงแต่ต้องรอทางสภาพัฒน์ฯ ว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อไหร่ ซึ่งที่ผ่านมา สอศ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามเรื่องกับทางสภาพัฒน์ฯ อยู่ตลอดเวลา ว่าเรื่องถึงไหนอย่างไร จะนำเสนอให้ครม. พิจารณาช่วงไหน ทั้งนี้ขอให้นักศึกษาอดทนรอก่อน เพราะเรื่องดังกล่าวเกินการควบคุมของ สอศ.แล้ว และได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น”เลขาธิการ กอศ.กล่าว