ตามที่คณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(มทร.ล้านนา)ที่แต่งตั้งตามคำสั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้กำหนดให้มีการเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามข้อบังคับ มทร.ล้านนา ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2562 ในการประชุมคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งที่ 33(9/2563) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งผลการเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ ผศ.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน และรอดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่มีคนสกัดโดยร้องถึงการทุจริตการจัดซื้อระบบผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ (Hydro Pure) ที่นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบมหาอุทกภัยน้ำท่วมหนักและขาดแคลนน้ำดื่ม ในปี พ.ศ. 2554 และจนถึงขณะนี้เวลาไปล่วงเลยมาปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีการเสนอชื่อโปรดเกล้าฯแต่อย่างใด
Focusnews.in.th จึงได้สอบถามไปยัง รศ.สุรชัย ขวัญเมือง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มทร.ล้านนา ทราบว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการรายงานผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงและไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และผลการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ และนายสุรพันธ์พร โล่ห์เพชร มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาแต่อย่างใด เนื่องจากปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นไปตามข้อกำหนดของหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว382 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด เพราะเป็นการจัดซื้อระบบผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ (Hydro Pure) ที่นำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบมหาอุทกภัยน้ำท่วมหนักและขาดแคลนน้ำดื่ม ในปี พ.ศ. 2554 ตามการร้องขอของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และมติสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้( 21 ตุลาคม 2564)จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย มทร.ล้านนา ซึ่งจะมีวาระการพิจารณาแต่งตั้งรักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย สภาฯจะแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาให้เป็นอธิการบดีให้เป็นผู้รักษาราชการแทนฯ เพื่อจะให้การดำเนินงานของ มหาวิทยาลัยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง แต่ มทร.ล้านนา กลับทำเรื่องง่าย ๆ เป็นเรื่องที่ยาก
รศ.สุรชัย กล่าวว่า ตนได้รับเอกสารหลายฉบับจากบุคลากรของ มทร.ล้านนา หลายท่านที่ส่งมาให้ และตนก็ไม่อยากถูกฟ้องศาลเพราะไปกลั่นแกล้งผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี ซึ่งผลการสอบสวนวินัยและละเมิดเขาก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ซึ่งตนได้ประมวลข้อเท็จจริง เป็นเรื่องๆ ได้ ดังนี้
1. รายงานการประชุมสภาฯ มทร.ล้านนาเมื่อปี 2560 ในการแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี โดยผู้ที่ได้รับการสรรหาฯ ถูกร้องเรียนและอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งสภาฯได้มีมติแต่งตั้งให้รักษาการอธิการบดี เพราะถ้ามีความผิดตามข้อร้องเรียนจริง ก็มีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้สภาฯใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา เพื่อจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยไม่มีสองมาตรฐาน
2. บันทึกของงานวินัยและนิติการ มทร.ล้านนา ที่เสนอวาระเกี่ยวกับผลการดำเนินการทางวินัย และผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อเสนอต่อสภาฯให้รับทราบว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหานั้น ควรแจ้งในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยให้รับทราบโดยไม่ควรปกปิดข้อมูล
3. หนังสือของมหาวิทยาลัยที่รายงานผลการดำเนินการสอบสวนทางวินัย ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบว่าผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ควรแจ้งให้สภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ทราบ โดยไม่ควรปกปิดข้อมูล
4. หนังสือของมหาวิทยาลัยที่รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบว่าผู้ที่ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบฯ โดยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหานั้น ควรแจ้งให้สภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ทราบ โดยไม่ควรปกปิดข้อมูล
5. หนังสือซักซ้อมความเข้าใจของ ป.ป.ช. ที่ซักซ้อมความเข้าใจกับทุกหน่วยงานว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้นทุกหน่วยงานในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ก็ถือปฏิบัติตามหนังสือซักซ้อมของ ป.ป.ช. มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีผู้ที่ได้รับการสรรหาให้เป็นนายกสภา หรือกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ หรืออธิการบดี หรือแม้แต่ปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ทุกราย บางท่านดำรงตำแหน่งครบตามวาระแล้ว ป.ป.ช. ก็ยังไม่ชี้มูลความผิดเลยก็มี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ควรแจ้งให้สภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ทราบ โดยไม่ปกปิดข้อมูล
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารของ มทร.ล้านนาได้เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไปได้ สภามหาวิทยาลัยต้องช่วยกันประคับประคอง โดยยึดหลักความถูกต้อง มีความเป็นกลาง ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ก็สามารถช่วยมหาวิทยาลัยได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่กล่าวเบื้องต้นแล้ว ยังพบว่าก่อนหน้านี้ ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย อดีตรักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ก็มีคดีร้องเรียนทุจริต แต่ ก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้รักษาราชการฯ นอกจากนี้ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายกสภา มทร.ล้านนา ก็มีข่าวว่าถูกร้องเรียนเรื่องใช้รถราชการไปตีกอล์ฟเช่นกัน ดังนั้นประเด็นที่จะนำแนวทางปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งเวียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 มาเป็นเกณฑ์นั้น ถือว่าเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมกับผู้ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี มทร.ล้านนา ในครั้งนี้