เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหาการจัดการศึกษาเอกชน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีปัญหาค่าคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต อยู่ในระดับต่ำทุกระดับชั้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะต้องลงไปดูว่าจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างไร ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องการอ่านออกเขียนได้ และการศึกษาเพื่ออาชีพ ซึ่งจะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมสนับสนุนเด็กที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้มีความเป็นเลิศ โดยจะมีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะ พัฒนาเพื่อต่อยอดความถนัดและความสนใจของนักเรียน เช่น ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ เป็นต้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการจัดกิจกรรม เพื่อยกระดับพัฒนาต่อยอดส่งเสริมความเป็นเลิศของนักเรียน อีกทั้งจะมีการยกระดับโค๊ดดิ้งค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายภาษาอาหรับ ค่ายศิลปะ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาห้องเรียนพิเศษต่าง ๆ ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และพัฒนาทักษะการสอนของครูไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ส่งผลไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ก็จะร่วมกับอาชีวศึกษาในการจัดสอนอาชีพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอนอาชีพที่สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีอาชีพสร้างรายได้ด้วยตัวเอง
ด้าน ดร.พะโยม ชินวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในฐานะประธานที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าเด็กภาคอื่น ๆ ว่า สาเหตุที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าภาคอื่น เพราะบริบทของพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามใช้ภาษายาวีเป็นหลัก เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทย ไม่ใช่ไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ปัญหาโดยการทำให้เด็กอ่านภาษาไทยได้และเข้าใจภาษาไทยด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับภาษาแม่ ซึ่งต้องให้เข้าใจทั้งสองภาษาคู่กัน