ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบาย เรื่อง “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps”เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งผ่านไปเพียง 3 วัน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีระดมสมอง เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นฐาน เสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไร ให้ตอบโจทย์สังคมไทยในสังคมโลก”ผ่านช่อง OBEC Chanel ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดงาน ว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ตนได้แถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนโยบายการจัดการศึกษาข้อที่ 1 คือ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีความรู้ ทักษะและลักษณะที่เหมาะสมกับสังคมไทย และวาระเร่งด่วนที่ 2 คือการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ

“ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรได้จัดทำกรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและเปิดรับสมัครให้โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสมัครใจทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ ซึ่งมีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมทดลองทั้งสิ้น 267 โรงใน 8 จังหวัด โดยครอบคลุมทั้งโรงเรียนสังกัดสพฐ. โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้ จึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนใน 3 ทาง ได้แก่ การจัดเวทีระดมความคิดเห็น 7 ครั้ง การรวบรวมแนวคิดและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมทดลองหลักสูตร และรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเวทีระดมสมองครั้งนี้เป็นเวทีแรกในการเปิดรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาหลักสูตร ดิฉันตระหนักดีว่าหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานคือภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ เราจะร่วมกันเปลี่ยนผ่านจากหลักสูตรเดิมที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัดไปสู่การมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเรียนรู้ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผล และเด็กทุกคนมีโอกาสค้นพบเป้าหมายของตนเอง”น.ส.ตรีนุช กล่าว


ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติที่สังคมไทยในปัจจุบันต้องการสร้างเด็กไทยให้มีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์หรือความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาหรือสร้างเด็กให้เป็นคนไทยที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ โดยขณะนี้หลายฝ่ายมีความคาดหวังที่จะเห็นหลักสูตรเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากช้าไปกว่านี้จะทำให้โอกาสของคนไทยช้าไปด้วย

ขณะที่ ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไล่ทามไลน์ยาว ที่มาของหลักสูตรฐานสมรรถนะในประเทศ ว่า เมื่อปี 2562 ต่อ 2563 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)โดย รศ.ดร.ทิศนา แขมณี ได้นำเสนอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จากนั้น วันที่ 7 มกราคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2565 โดยนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม 6 จังหวัด และในเดือนตุลาคม 2563 นายณัฏฐพล ได้ขอทบทวนแนวทางการจัดทำหลักสูตรเนื่องจากยังมีผู้ไม่เข้าใจบางประการทำให้การจัดทำหลักสูตรชะงักไป


กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ประกาศแผนการปฏิรูปฉบับปรับปรุงในราชกิจจานุเบกษา และได้ประกาศว่ามีกิจกรรมปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก หมายความว่าเรื่องนี้มาจากรัฐธรรมนูญ และอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้วย ถือว่าเป็นกฎหมาย ดังนั้นเมื่อ น.ส.ตรีนุช เข้ามาเป็นรมว.ศึกษาธิการ จึงได้ลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตร โดยตนได้รับเป็นประธาน วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ตนได้นำความคืบหน้าและแผนการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้เสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ซึ่งเป็นองค์คณะที่ให้ความเห็นชอบการใช้หลักสูตร และกพฐ.ก็ได้เห็นชอบแผนตามที่เสนอ พร้อมกับเห็นชอบการปรับเพิ่มสมรรถนะจาก 5 เป็น 6 สมรรถนะด้วย และในเดือนสิงหาคมก็มีการทบทวนโรงเรียนที่จะนำร่องใช้หลักสูตรซึ่งก็มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วม 265 โรงใน 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรม อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ในระหว่างเดือนกันยายน 2564-กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการรับฟังความคิดเห็น 3 ทาง คือ โรงเรียนที่นำหลักสูตรไปทดลอง เวทีรับฟังความเห็น และเว็บไซต์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 คณะกรรมการอำนวยการฯได้เห็นชอบร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1

ดร.สิริกร กล่าวต่อไปว่า เดือนพฤศจิกายน 2564 –มกราคม 2565 จะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะประกาศรายชื่อโรงเรียนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เดือนมีนาคม 2565 จะสรุปผลวิจัยรับฟังความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงหลักสูตร เดือนพฤษภาคม 2565 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับประถมศึกษา เดือนพฤษภาคม 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษาที่เหลือ เดือนพฤษภาคม 2567 ก็จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทุกโรงเรียน เพราะฉะนั้นจะใช้เวลา 3 ปี โดยขณะนี้ร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะระดับประถมศึกษา ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงวิพากษ์หลักสูตรและนำข้อมูลของประเทศที่ประสบความสำเร็จมาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

“ในต้นเดือนตุลาคมนี้จะขอให้น.ส.ตรีนุช เคาะเปิดหลักสูตรไปนำร่อง และภายในเดือนพฤศจิกายนจะพร้อมให้ น.ส.ตรีนุช ลงนามการใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ซึ่งปกติจะต้องประกาศล่วงหน้าเพื่อให้คนทำหนังสือเรียนทำได้ทัน แต่สำหรับพื้นที่สีแดงซึ่งไม่ค่อยสะดวกใจในเดือนพฤษภาคมปีหน้าก็จะยังเดินคู่ขนานกันไปก่อน” ดร.สิริกรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เท่าที่ทราบ คือ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษาซึ่งมีนัยสำคัญคือ “ให้ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ทั้งนี้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะและคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือการปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ซึ่งตรงกับคำพูดที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวไว้ในวันเปิดงานพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะเลย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments