เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบาย ในการปรับระบบและวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล 4.0 โดยได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพร้อมกัน ทั้ง สายงาน ได้แก่ สายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานนิเทศการศึกษาและสายงานบริหารการศึกษา และได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเดิม ได้ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ไม่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการประเมินผลงานย้อนหลัง จึงเป็นการเพิ่มภาระในการสะสมผลงาน เพิ่มภาระงานมากขึ้น และดึงครูออกนอกห้องเรียน ส่งผลให้การจัดการศึกษา ในห้องเรียนขาดความต่อเนื่อง ประกอบกับการประเมินดังกล่าว เกิดค่าใช้จ่ายในการประเมินที่สูง และมีกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอน

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ นี้ ศธ.ให้ความสำคัญว่าหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวจะต้องส่งผลไปถึงผู้เรียนและมุ่งเน้นการพัฒนาวิชาชีพมากกว่าการจัดทำผลงานทางวิชาการ และควรมีการบูรณาการการทำงานที่เชื่อมโยงกัน โดยต้องมีการประเมินที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน  เป็นธรรม และนำระบบออนไลน์มาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ เช่น การยื่นคำขอ และการส่งผลงานทางวิชาการ  โดยเน้นระบบการบันทึกข้อมูลที่ลดการใช้กระดาษ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สังเคราะห์ความคิดเห็น จากนักวิชาการและผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดสำคัญในการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่นี้  จะเป็นประโยชน์กับผู้เรียน สถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ให้ได้มีการพัฒนาตนเอง          ให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ และทำให้กระบวนการพัฒนาผู้เรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้     การจัดการศึกษา มีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน สามารถนำมากำหนดแผนพัฒนาการนิเทศการศึกษา    หรือแผนพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และที่สำคัญเป็นการลดกระบวนการและขั้นตอนโดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (ระบบ Digital Performance Appraisal : DPA) เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและงบประมาณการประเมิน รวมถึงเกิดการเชื่อมโยง บูรณาการในระบบการประเมินวิทยฐานะ การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ไปในคราวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสะท้อนนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

ดิฉันมีแนวคิดในการที่จะปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ เพราะต้องการเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยตรง เน้นการพัฒนาวิชาชีพมากกว่าการจัดทำผลงานทางวิชาการ และสิ่งที่สำคัญการประเมินต้องไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน เกิดความเป็นธรรม ลดภาระเอกสาร และค่าใช้จ่ายให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งหลังจากการประกาศเกณฑ์ ใหม่ (PA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ก็ได้มีการสร้างการรับรู้ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 5  กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดกิจกรรมการชี้แจงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ฯ (PA) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ให้ความสนใจเข้าร่วมรับชมและรับฟังมากกว่า 400,000 คน และได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากกิจกรรมดังกล่าว พบว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ฯ (PA) ได้ถึง 91% และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งพบว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความมั่นใจว่าเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาได้ 96% ซึ่งดิฉันถือว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินวิทยฐานะใหม่ ที่ผู้ปฏิบัติจริงมีความคิดเห็นและมีความมั่นใจที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และดิฉันมีความมั่นใจว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวะสามารถพลิกโฉมวิชาชีพครูและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศได้อย่างแน่นอนและหลังจากนี้จะได้รายงานให้ ครม. เพื่อทราบต่อไปน.ส.ตรีนุช กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments