วานนี้ ( 27 ก.ย.64) ที่กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกมธ.การทหารฯ ได้เดินทางมาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดย
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ที่สนใจ เป็นห่วง และให้ความสนใจการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่เปราะบาง การแก้ไขปัญหาดำเนินการเฉพาะนักการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยฝ่ายความมั่นคงมาช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล และประสานความร่วมมือกันต่อไป
ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานกมธ.การทหารฯ กล่าวว่า กมธ.การทหารฯ เล็งเห็นว่าปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมากมธ.การทหารฯ ได้ตั้งคณะอนุ กมธ. ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานให้ครอบคลุมปัญหาความมั่นคงในทุกรูปแบบและทุกมิติ ซึ่งผลจากการศึกษาของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่าการยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลดีต่อความมั่นคงในระยะยาว ขณะเดียวกันกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาการบ่มเพาะเด็ก โดยปลูกฟังให้มีทัศนคติและสร้างความคิดที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น กมธ.การทหารฯจึงมาแลกเปลี่ยนและรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จาก ศธ.เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า แนวโน้มของการศึกษามีหลายมิติมากทั้งภาษา วิทยาศาสตร์ ศาสนา อาชีพ และอื่นๆ ซึ่งเรื่องความมั่นคง กับเยาวชนและการศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้คิดถึงหลักการทรงงาน ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และอีกพระราชดำรัสหนึ่งของพระองค์ท่าน คือ “นักเรียนเรียนหนังสือแล้วจบต้องมีงานทำ ต้องทำงานเป็น” ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจ เข้าถึง และจะพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องสร้างอาชีพ สร้างโรงงาน เช่น โรงงานอาหารฮาลาล เพื่อให้คนในพื้นที่มาอาชีพ ตั้งแต่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากได้คุยกันจะมาทางออกอื่นๆอีกมาก ทั้งนี้ ศธ.จะนำข้อเสนอแนะจาก กมธ.การทหารฯมาพัฒนาการเรียนการสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด.