นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนา ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของโรงเรียนร่วมพัฒนา 50 โรงเรียน ใน 30 จังหวัด ที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้จากการไปเยี่ยมชมโรงเรียนร่วมพัฒนา 3 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดจุฬามณี จ.อยุธยา โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย จ.นครปฐม และโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม จ.ราชบุรี ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน กับ บริษัทเอกชนที่เข้าไปสนับสนุน ซึ่งผลปรากฏว่าในชุมชนเกิดความตื่นตัวอย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานราชการต่าง ๆ และกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าไปสนับสนุน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักเกณฑ์จ้างครูหรือผู้บริหารที่มาจากคนนอก ที่มีปัญหาติดขัดนั้น ตอนนี้ได้แก้ไขแล้วโดยได้ส่งเรื่องผ่านคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ซึ่งเป็นผู้อนุมัติ และก.ค.ศ. ก็อนุมัติแล้ว คาดว่าคงไม่มีปัญหาติดขัดเรื่องกฏระเบียบเพราะได้มีการพูดคุยกันในการประชุมครั้งที่แล้ว และจะนำเรื่องเพื่อขออนุมัติ เช่น เรื่องการคัดเลือกผู้บริหาร การโยกย้ายครู และการเลื่อนวิทยฐานะเข้าที่ประชุมก.ค.ศ.ในครั้งหน้า
“เราต้องการครูจากภายนอก ครูที่มีความรู้ ความสามารถ แต่สอนไม่ได้ เนื่องจากไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ตามระเบียบเดิม ตรงนี้ ก.ค.ศ.จะมีการยกเว้นให้ ส่วนการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะทำเป็นเกณฑ์กลาง สำหรับโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งมีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มโรงเรียนพิเศษ กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ ที่เป็นการเรียนการสอนพิเศษ จะนำเกณฑ์นี้มาใช้ เพื่อความคล่องตัว”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือเรื่อง การติดตาม ประเมินผล และทำวิจัย เพราะเป็นตัวที่จะบอกถึงความสำเร็จและความยั่งยืนของโครงการนี้ ดังนั้นต้องการมีการวางแนวทางการติดตามประเมินผลกันอย่างไร แต่จะต้องเป็นการพัฒนา ไม่ได้เป็นการไม่สร้างภาระเพิ่ม เนื่องจากโรงเรียนร่วมพัฒนาเป็นการวางแผนและแนวทางเพื่อสร้างอนาคตของเด็ก และในเฟสใหม่นี้มีโรงเรียนเสนอเข้าโครงการมากว่า 20 โรงเรียน ซึ่ง 10 โรงเรียนมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี นายมีชัย วีระไวทยะ กรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดจัดการศึกษารูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นประธาน คัดเลือก
ด้าน นายมีชัย กล่าวว่า ถือว่าการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นแล้ว โดยการปฏิรูปจากภายนอกด้วยการสนับสนุนจากภายใน ต่อไปนี้โรงเรียนต้องมีศูนย์กลางการเรียนรู้ สิ่งพัฒนา คือ ต้องการเพิ่มคุณภาพคน 3 กลุ่ม คือ ครู นักเรียน และคนในชุมชน ต่อไปนี้โรงเรียนต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน ทำให้ผู้ปกครองหายจน จะมีกองทุนเงินจากบริษัทให้นักเรียนกู้โดยการทำโครงงานเสนอขึ้นมา ดังนั้นโรงเรียนในโครงการนี้จะมีบทบาทกว้างกว่า โรงเรียนทั่วไป นักเรียนทุกคนต้องเรียนรู้การทำธุรกิจ เพื่อเลี้ยงตนเอง ต่อไปสามารถอยู่ในชุมชนโดยไม่อพยพออกไปอยู่นอกเมือง ซึ่งโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนเตรียมอนาคต ให้กับนักเรียน