เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ได้ประชุมหารือร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากทั่วประเทศ เรื่อง การผลิตแพทย์ในอนาคตของประเทศไทย ที่อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนโยธี กรุงเทพฯ โดยหลังการประชุม ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า การประชุมคณบดีคณะแพทยศาสตร์ 23 แห่งจากทั่วประเทศในวันนี้ ตนได้นำคำขอบคุณในนามคนไทยและรัฐบาล รวมทั้งเสียงชื่นชมและให้กำลังใจมาส่งมอบให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของ อว. ที่ทำหน้าที่แนวหน้า ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษาชีวิตคนไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตนได้รับทราบมาโดยตลอดว่าบุคลากรของเราทำงานอย่างหนัก ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ที่สำคัญยังเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จนมาถึงวันนี้ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้น แต่บุคลากรของเราก็ยังตั้งการ์ดเฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่ ตนในฐานะรัฐมนตรีก็ขอขอบคุณและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อสู้ไปด้วยกัน
รมว.อว. กล่าวต่อว่า อว. มีโรงเรียนแพทย์กว่า 23 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งต่างก็เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ได้มาตรฐานในระดับโลก ที่ผ่านมาสามารถผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงให้กับประเทศมาโดยตลอด แต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤติ เราจึงเตรียมแผนที่จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าในปี 2565 – 2570 จะต้องผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นให้ได้อีก 13,318 คน ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการได้ตามนี้ จะทำให้สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรจากเดิมในปัจจุบัน คือ แพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 1,600 คน จะดีขึ้นเป็นแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ซึ่งจะเป็นการยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุขไทย
“อว. จะผลิต “แพทย์สายพันธุ์ใหม่” เป็นการแพทย์ไทยยุคใหม่หลังโควิด ที่ผสมผสานทั้งแพทย์ตะวันตกและตะวันออก โควิดเป็นแรงผลักดันที่ทำให้การเตรียมแพทย์ การผลิตแพทย์ต้องเปลี่ยนไป โดยแพทย์สายพันธุ์ใหม่จะต้องรู้ทั้งด้านไอที ระบาดวิทยา การป้องกันโรค รู้รอบตัว รู้กว้างและรู้ลึก ทั้งไฮเทค (High Tech) และไฮทัช (High Touch) หรือเก่งทั้งด้านเทคนิคและมีความเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยด้วย” ดร.เอนก กล่าว