เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสพบเพื่อนครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ผ่านช่องทาง OBEC Channel ว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ต้องจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องทำงานหนัก และปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ยืดหยุ่น ทั้งการลดภาระครู การประเมินต่าง ๆ ของนักเรียน ทั้งการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือเอ็นที และการทดสอบอื่น ๆ ก็ต้องลดลง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ปัญหาการลดภาระในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งเรื่องอาชีพ และเศรษฐกิจ  จึงได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 โดยช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน  และนักศึกษา ในทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท ขอย้ำให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารโรงเรียน และครูนำเงินในส่วนนี้มอบให้ถึงมือ นักเรียนและผู้ปกครองทุกคนอย่างรวดเร็ว โปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่วนที่มีคนทำคลิปขอบคุณรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เคยมีนโยบายไปสร้างภาระให้ครูต้องทำคลิปขอบคุณ เป็นความตั้งใจช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองในช่วงโควิด-19 และที่ทำคลิปมาขอบคุณก็ต้องขอขอบคุณโรงเรียนที่มีเจตนาดี

“นอกจากเงินเยียวยาแล้ว นายกฯ ยังมีข้อห่วงใยเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ก่อนหน้านี้มีการฉีดวัคซีนให้ครู ซึ่งได้ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้วกว่า 70% และจะทยอยฉีดไปเรื่อยๆจนครบ เพื่อให้เด็กสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้มีการเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 12-18 ปีแล้ว ในส่วนของศธ. มีการเตรียมข้อมูลนักเรียน และจะมีการพูดคุยกับสธ. และกระทรวงมหาดไทย(มท.) กรณีถ้ามีวัคซีนเข้ามา เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด และคำนึงด้วยว่า จะต้องเป็นวัคซีนที่เหมาะสมในการฉีดให้กับเด็ก ส่วนการเตรียมพร้อมในการเปิดภาคเรียน ซึ่งจะควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน และขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปอีกระยะ ทำอย่างไรจะทำให้อยู่กับสถานการณ์เช่นนี้ได้โดยที่เด็กไม่ขาดการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องวางแผนร่วมกับสธ. ชุมชน และกระทรวงมหาดไทย ในการเปิดเรียนในบางพื้นที่ ที่มีความพร้อม โดยศธ.ได้ทำโครงการ Sandbox Safety Zone in School สำหรับโรงเรียนประจำ หรือโรงเรียนกินนอน ตามมาตรการของสธ. จำนวน 44 โรงเรียน ระยะที่ 2 เตรียมการในเรื่องการเปิดภาคเรียน ซึ่งต้องประเมินจากสถานการณ์ภาพรวมด้วย โดยตนได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อดูว่าให้ชัดเจน พื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments