เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 : ดร.วรัท พฤกษาทวีกุลเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย( กศน. )เปิดเผยว่า ตามที่น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ สำนักงาน กศน.ดำเนินการส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาอาชีพเพื่อการมีงานทำ Re – Skill และUp – Skill ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น สำนักงาน กศน. ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ Re – Skill และ Up – Skill สำหรับ 5 กลุ่มอาชีพ รวมทั้งสิ้น 10 หลักสูตรดังนี้
1.กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ฟ้าทะลายโจร, หลักสูตรการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้านขมิ้นชัน, หลักสูตรการทำอาหารคาวเพื่อสุขภาพ, หลักสูตรการทำอาหารหวานเพื่อสุขภาพ, หลักสูตรการทำอาหารว่างเพื่อสุขภาพ และ หลักสูตรการทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 2. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม ได้แก่ หลักสูตรการออกแบบ/พัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างง่าย 3. กลุ่มอาชีพพาณิชยกรรมและบริการ ได้แก่ หลักสูตรการขายของออนไลน์ผ่านช่องยูทูบ (YouTube) 4.กลุ่มอาชีพความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ หลักสูตรการทำแอปพลิเคชัน(Application) เพื่อการค้าออนไลน์ และ 5. กลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ในหลักสูตรเส้นทางสู่การเป็น “ยูทูบเบอร์” (YouTuber)
“การจัดทำหลักสูตรคำนึงถึงสภาพปัญหา ความต้องการของสถานศึกษาและประชาชนในพื้นที่ท่ามกลางสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสำคัญ รวมถึงวิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ กำลังเป็นกระแสและความต้องการใกล้ตัว เช่น หลักสูตรปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ฟ้าทะลายโจร ไม่เพียงเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพที่มั่นคง ยังเชื่อมโยงกับนโยบายของสำนักงาน กศน. ที่ให้ สถานศึกษา กศน. ปูพรมเพาะพันธุ์และแจกจ่ายฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชนไปแล้วทั่วประเทศกว่าล้านต้น ตามนโยบายกศน. ห่วงใยร่วมต้านภัยโควิด-19 ในกิจกรรมล้านเมล็ดพันธุ์ สู้ภัยโควิด ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเทรนด์ความสนใจของประชาชนในขณะนี้ เปรียบเสมือนเป็นอาชีพต้นน้ำและนำมาสู่การพัฒนาและขยายผลเชื่อมโยงเป็นอาชีพกลางน้ำและปลายน้ำ ตามลำดับ”ดร.วรัท กล่าวและว่า สำนักงาน กศน. ได้ผลิตสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เพื่อใช้ประกอบการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรต่าง ๆ อีกจำนวน 24 ตอนในชื่อรายการ “ต่อยอดอาชีพ”และพัฒนาระบบหลักสูตรเพื่อการพัฒนาอาชีพ Quick – Win (ต่อยอดอาชีพ) โดยดำเนินการออกแบบและพัฒนา platform ในรูปแบบ On Pc และ On mobile application เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ได้ตามลิงค์http://pattana.nfe.go.th/quick-win และรูปแบบ Mobile application “ต่อยอดอาชีพ” ในระบบ Android ผ่าน Google play store ซึ่งสามารถรองรับโทรศัพท์ในระบบ android Version 5.1 – version ปัจจุบัน ซึ่งสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศก็จะนำหลักสูตรเหล่านี้ไปขยายผลจัดอบรม ฝึกอาชีพให้กับประชาชนที่สนใจต่อไป
ด้าน นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (กพ.) กล่าวว่า หลักสูตรทั้ง 10 หลักสูตรดังกล่าว สำนักงานกศน. มุ่งหวังให้ผู้เรียนและประชาชนที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนา สร้างอาชีพต่อไปได้ตามความสนใจ โดยสถานศึกษาหรือผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และการจบหลักสูตร สถานศึกษาสามารถวางแผนจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความพร้อม ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนหลักสูตรที่ตนสนใจในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งหรือเรียนหลายหลักสูตร ทั้งหลักสูตรต้นน้ำ กลางน้ำ และหลักสูตรปลายน้ำควบคู่กันไปได้