เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการส่งเสริมสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับ ม.1-ม.3 ในโรงเรียนขยายโอกาสของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านช่องทาง ผ่านobec Channel ว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนโรงเรียนขยายโอกาสไปสู่อนาคต ซึ่งตนพูดตลอดเวลาว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเรามีการจัดอยู่ 2 ช่วง คือ ก่อนมัธยมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งก่อนมัธยมฯก็จะมี ระดับอนุบาลและประถมศึกษา ส่วน มัธยมศึกษา จะมีโรงเรียน 3 ลักษณะ คือ โรงเรียนมัธยมฯที่อยู่ในสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โรงเรียนมัธยมฯที่อยู่ในโรงเรียนประถมฯหรือโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนมัธยมฯปกติ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันซึ่งวันนี้เราจะมาพูดโรงเรียนขยายโอกาสฯ ได้มีการจำแนกขนาดออกมาเป็น 5 ขนาด ได้แก่ ขนาด SS มีนักเรียน ม.1- ม.3 ไม่เกิน 20 คน ซึ่งมีจำนวน 330 โรงเรียน ขนาด S มีนักเรียน ไม่เกิน 99 คน มีจำนวน 5,497 โรงเรียน ขนาด M มีนักเรียน 100-299 คน จำนวน 956 โรงเรียน ขนาด L มีนักเรียน 300-499 คน จำนวน 61 โรงเรียน และ ขนาด XL มีนักเรียน 500 คนขึ้นไป จำนวน 10 โรงเรียน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการจำแนกออกมาทำให้เราเห็นว่า การดำรงคงอยู่หรือการกำหนดทิศทางในอนาคต โดยจะเห็นได้ว่า โรงเรียนขนาด XL เป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ขยายโอกาสที่มีจำนวนนักเรียน 500 คนขึ้นไป ตนไม่เป็นห่วง 10 โรงเรียนนี้ จะอยู่ต่อไปจะเน้นทางไหนก็ว่ากันไป แต่ถ้าจำเป็นต้องดำรงอยู่ก็ต้องพร้อมที่จะแข่งขันกับโรงเรียนมัธยมฯทั่วไปได้ หรือ แบ่งเบาโรงเรียนมัธยมฯได้ก็สามารถจัดการศึกษาที่มีทั้งทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพได้เต็มที่ รวมถึงมุ่งสู่การเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอนุบาลถึง ม.ปลาย อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยากให้ทั้ง 10 โรงเรียนนี้เป็นต้นแบบการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.ปลาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำอย่างไร ส่วนโรงเรียนขนาด M และ L ซึ่งมีทั้งหมด 1,000 กว่าโรงนั้น ตนยังต้องการให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสต่อไป แต่ทำอย่างไรถึงจะเป็นโรงเรียนที่ไม่มุ่งเน้นสร้างเด็กไปสู่มหาวิทยาลัย แต่ให้มุ่งไปสู่การมีทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ ที่มีคุณภาพ เพราะถ้าเด็กต้องการเรียนสายสามัญควรให้ไปเรียนโรงเรียนมัธยมฯจะมีความพร้อมและมาตรฐานที่ดีกว่า
ดร.อัมพร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามตนมีความห่วงใยกลุ่มโรงเรียนขนาด SSกับ S ซึ่งมีอยู่เกือบ 6,000 โรง ซึ่งมีนักเรียนน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีนักเรียน 1-20 คน ใน330 โรงเรียน หากเราจำเป็นต้องจัด เราจะจัดอย่างไรที่จะเน้นทางด้านอาชีพ เน้นทักษะชีวิต แต่หากคงอยู่ไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ เพราะจะเหมือนถ้าเด็กน้อยมาก ๆ จะต้องคิดว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรให้มีคุณภาพได้ซึ่งตนไม่อยากให้จำนนต่อสภาวะนี้ เพราะวันนี้โรงเรียนมัธยมตำบลก็มีขนาดเล็กเหมือนกันมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐและสังกัด สพฐ.เหมือนกัน จึงไม่อยากให้กลายเป็นสถานที่กักขังหรือหน่วงเหนี่ยวโอกาสของนักเรียน แต่เราควรส่งเสริมโอกาสให้เด็ก ๆ แต่ถ้าเป็น ขนาด M L และ XL ตนยินดีส่งเสริมให้อยู่และอยู่อย่างมีคุณภาพภายใต้การส่งเสริมอาชีพ
“ผมมีความห่วงใยโรงเรียนกลุ่มที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน เพราะเราอาจจะจัดการศึกษาให้นักเรียนไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ผมจึงจัดให้โรงเรียนขยายโอกาสมาอยู่กับ สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้เกิดการบูรณาการการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยผมไม่อยากให้นักเรียนขยายโอกาสเน้นเรื่องวิชาการ แต่ให้เน้นเรื่องทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ วันนี้ผมอยากให้โรงเรียนขยายโอกาสเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดขณะนี้ ผมอยากให้ทดลองวางทักษะวิชาการไว้ก่อน แล้วให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เป็นทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ หากเด็กไม่มีความรู้ค่อยมาค้นคว้าในทักษะวิชาการเพื่อไปเติมเต็มทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ แล้วให้เด็กลงมือปฏิบัติทำอาชีพเพื่อเป็นการทดลองเรียนรู้การลงทุน การวางแผน การขาดทุน การถนอม หรือรักษาสิ่งต่าง ๆ ให้มีคุณภาพไว้ ซึ่งเป็นการสั่งสมประสบการณ์ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ตนอยากให้โรงเรียนวิเคราะห์ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มขนาดไหน แล้วจะส่งเสริมนักเรียนไปในทิศทางไหนบนบริบทความต้องการและความพร้อมของนักเรียน โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นพี่เลี้ยงแล้วช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจเพื่อตอบโจทย์นักเรียน โดยโรงเรียนจะเป็นหน่วยที่ให้โอกาสกับเด็กที่มีความยากลำบากได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของเป้าหมายการตั้งโรงเรียนขยายโอกาส