เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักเรียนที่มีอยู่จริง พร้อมประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการเบิกจ่ายฯ และกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการเบิกจ่าย/ตรวจสอบเงินเยียวยา 2,000 บาท โดย สช.มีหนังสือแจ้งไปยังศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) สช.จังหวัด และโรงเรียนเพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินการรับเงินว่าเมื่อได้รับเงินแล้วโรงเรียนจะต้องมีแบบฟอร์มหลักฐานการจ่ายเงิน และแจ้งผู้ปกครองทราบกรณีที่ประสงค์ให้โอนเงินต่างธนาคาร ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของ สช.ด้วย

นายอรรถพล ตรีกตรอง เลขาธิการ กช.กล่าวว่า สช.แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้แจ้งความดำเนินคดีโรงเรียนนานาชาติ 2 แห่ง คือ 1.โรงเรียนนานาชาติฟอสเตอร์ แขวงบางยี่เรือ กรุงเทพฯ เนื่องจาก สช.ได้รับการร้องเรียกจากผู้ปกครองว่าโรงเรียนปิดกิจการและติดต่อไม่ได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโรงเรียนแห่งนี้ ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 แต่อาคารสถานที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง จึงไม่อนุญาต แต่โรงเรียนกลับเปิดรับนักเรียน อีกทั้งกระทรวงแรงงานไปตรวจสอบ และได้จับกุมครูชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำการสอน 6 ราย ขณะทำการสอนนักเรียน  สช.จึงแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.บางยี่เรือ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับความเสียหายมาติดต่อ สช.เพื่อขอรายเอียดดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป และโรงเรียนที่ 2 คือโรงเรียนนานาชาติเซนต์มาร์ค เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โรงเรียนนี้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542 โดย สช.อนุญาตให้เปิดสอนเฉพาะระดับอนุบาล 1-3 แต่ทางโรงเรียนทำการเปิดสอนชั้นประถม–มัธยมปลายด้วย เมื่อเด็กจบ ม.6 แล้ว ไม่สามารถไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ สช.จึงสั่งโรงเรียนงดรับนักเรียนใหม่และได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อไป หากผู้ปกครองคนใดส่งลูกเรียนระดับชั้น ป.1-ม.6 ที่โรงเรียนดังกล่าวให้เร่งประสาน สช.เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานและหาช่วงทางช่วยเหลือนักเรียนต่อไป

นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สช.ยังพบว่าโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก โดยขณะนี้โรงเรียนในระบบ มี 3,986 แห่ง เลิกกิจการ 43 แห่ง และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ มี 7,789 แห่ง เลิกกิจการไปแล้ว 300 แห่ง ซึ่ง สช.จะหาช่องทางช่วยเหลือและเสนอให้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments