เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับปรับปรุง ที่ศธ.เสนอ เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้เสนอร่าง คำสั่ง คสช.ที่19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับปรับปรุง ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นต่อไป ศธ.จะเสนอร่างคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ต่อสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร นำร่างคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ของรัฐบาล และ ส.ส.ไปพิจารณาแก้ไขร่วมกันต่อไป
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปรับปรุงคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เพื่อให้ทันสมัย และให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเบื้องต้นร่างคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ฉบับปรับปรุงของ ศธ.ที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรมีสาระสำคัญ ดังนี้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ยังคงอยู่แต่มีหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์การศึกษาเท่านั้น แต่ให้แยกอนุกรรมการบริหารงานด้านบุคคลออกมาเป็นอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)จังหวัดแทน เพื่อให้มาบริหารงานบุคคล โดยคณะอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน คือ ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ด้าน คือ ด้านบริหารงานบุคคล สังคม และงบประมาณ และมีผู้แทนจากข้าราชการครู ผู้แทนจากผู้บริหารการศึกษา และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ทำหน้าที่เลขานุการ และผู้อำนวยเขตพื้นการศึกษาอื่น ๆ เป็นกรรมการผู้ช่วยเลขานุการ มาพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในจังหวัดของตัวเอง ส่วนกรุงเทพนครให้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 เป็นเลขานุการ
“ร่าง คำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ของรัฐบาลมีความแตกต่างจาก ร่างที่ ส.ส. เสนอคือ ร่างที่ ส.ส.เสนอสภาผู้แทนราษฏรนั้น ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 และคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลด้วยการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 53 กลับคืนมาเหมือนเดิม ให้ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ทั้ง 225 เขตพื้นที่ เพื่อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ร่างของรัฐบาลที่ผ่านครม.ในวันนี้ จะตั้งเฉพาะ อ.ก.ค.ศ.จังหวัด มาพิจารณาการบริหารบุคคลให้ภาพรวม ซึ่งจะช่วยเรื่องการเกลี่ยอัตรากำลังคน และทำให้การบริหารงานและบริหารงบประมาณ การเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นภาพรวมของจังหวัด“ดร.อำนาจ กล่าว