ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือในการจัดสรรโควตาสนับสนุนการศึกษาต่อของนักศึกษา กศน. และยกระดับการจัดการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ในระบบปกติและระบบทางไกล ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ ตลอดจน พล.ต.ท.ผศ.(พิเศษ) ดร.สัณฐาน ชยนนท์ คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และ ผศ.(พิเศษ) ดร.วิจิตรา ศรีสอน รองคณบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สวนสุนันทา ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผอ.สำนักงาน กศน.กทม. นางพรพรรณ มนตรีพิศุทธิ์ ผอ.กลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา สช. ดร.ณัฐพงษ์ รงคะวิรุจน์ชัย ผอ.สถาบันทางไกล กศน. ตลอดจนผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การหารือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือจากการจัดทำ MOU ระหว่างสำนักงาน กศน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ มรภ.สวนสุนันทา เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อของผู้เรียนนอกระบบให้ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การจัดกิจกรรม CSR ตลอดจนการพัฒนาครูและบุคลากรร่วมกัน ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปร่วมกัน ที่จะมีการจัดสรรโควตาเรียนใน มรภ.สวนสุนันทา แก่นักศึกษา กศน. นักเรียนเอกชน และผู้เรียนในสังกัดอื่น ๆ โดยในอนาคตจะมีการผลักดันโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น อาทิ การยื่นพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio), การสัมภาษณ์เพื่อเข้าศึกษาต่อ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ โดยจะเริ่มดำเนินการจัดสรรโควตาในบางคณะหรือบางสาขา หลังจากนั้นจะต้องมีการประเมินผลความสำเร็จ เพื่อขยายต่อไปยังคณะอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งได้หารือร่วมกันถึงข้อเสนอการทดลองจัดทำระบบเครดิตแบงก์ เพื่อเชื่อมโยงหรือถ่ายโอนหน่วยกิต บางวิชาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปใช้ในระดับอุดมศึกษา หรือในทางกลับกัน หากจะลงเรียนบางวิชาในระดับอุดมศึกษา (บางแห่ง) ก่อนจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็ทำได้ หรือจะนำวิชานั้นมาใช้ในการจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยก็ได้ หมายความว่า เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเชื่อมโยงหรือถ่ายโอนหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษาได้ นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ยังช่วยลดเวลาเรียน และผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจได้
“นอกจากนี้ ทาง มรภ.สวนสุนันทา ยังมีแนวคิดที่จะจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีออนไลน์ เช่นเดียวกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาทางไกล กศน. และในอนาคตจะต่อยอดการฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาวิทยาลัยการเมืองการปกครองและคณะครุศาสตร์ ในสถานศึกษาหรือหน่วยงานของ กศน.ที่มีความพร้อม เพื่อกระจายโอกาสให้นักศึกษาคณะอื่น ๆ มากขึ้น อาทิ ศูนย์ กศน.กทม. 50 เขต ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” เป็นต้น รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ร่วมกันของนักเรียนนักศึกษา อาทิ การปลูกฟ้าทะลายโจร เป็นต้น และในอนาคตเตรียมที่จะพัฒนาความร่วมมือร่วมกันในหลายมิติ อาทิ การพัฒนาหลักสูตร สื่อการศึกษา การวิจัย การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ เป็นต้น”รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ขอแสดงขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมสร้างโอกาสและสนับสนุนการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อที่สูงขึ้นของผู้เรียนทุกคน ให้ได้เลือกเรียนในวิชาที่ชอบ พร้อมนำไปใช้ต่อยอดในระดับมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตร่วมกัน