เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1/2564 ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมประชุมผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.อำนาจ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ สกศ. ในการขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 ให้ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการจัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยดังกล่าว โดยสาระสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมโยงบูรณาการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย นำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายเด็กปฐมวัยทุกคน ในประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น ความก้าวหน้า(ร่าง)แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงภาวะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ที่จำเป็นต้องสร้างการบูรณากันทุกหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดเอกภาพการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ
“ดร.วิษณุ ได้มอบหมาย สกศ.ทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570ให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับผลกระทบโควิด-19 เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาปฐมวัย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนสำคัญ 6คณะอนุกรรมการ ฯ ภายใต้พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 เน้นย้ำติดตามการดําเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติของหน่วยงานต้นสังกัดทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนาและจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เพื่อสะท้อนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดําเนินงานตามมาตรฐาน ฯ อย่างต่อเนื่อง”ดร.อำนาจกล่าว และว่า นอกจากนี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทน พม.-สธ.-มท. และ ศธ. ได้ตั้งข้อสังเกตและอภิปรายข้อเสนอแนะปรับตัวชี้วัดอย่างละเอียดแต่ละยุทธศาสตร์ และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ มาตรการขับเคลื่อนสำคัญ และการติดตามประเมินผล เพื่อลดความซ้ำซ้อนในเชิงบริหารและเชื่อมโยงการบูรณาการที่เกิดความสอดคล้องเป็นรูปธรรมชัดเจน ประการสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาเด็กไม่ได้มีแค่พัฒนาการ 4 ด้าน สังคม อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา แต่ยังมีทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง (Executive Functions : EF) ซึ่งมีความสำคัญเช่นกันโดยเพิ่มเสาหลักการพัฒนาตัวตนในเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเด็กปฐมวัย ผนวกเข้ากับแผนการขับเคลื่อนต่อเนื่องกันทุกกระทรวงในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความราบรื่นและไม่ขาดตอนในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2561