วันนี้(5 พ.ค.) ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า การประชุมวันนี้เป็นการซักซ้อมการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.64 ซึ่ง สพฐ.จะมีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามการแบ่งพื้นที่ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)กำหนด โดยจะมีการสำรวจความพร้อมเชิงพื้นที่ว่าแต่ละสถานศึกษาจะสามารถเปิดเรียนให้นักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติกี่แห่ง หรือถ้าเปิดไม่ได้จะมีวิธีจัดการเรียนการสอนกี่วิธีโดยยึดความพร้อมของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ข้อมูลมาเพียงพอแล้วว่าจะจัดการเรียนการสอนได้กี่วิธีและมีเด็กที่เข้าเรียนแต่ละวิธีเท่าไหร่ หรือมีเด็กที่สามารถเรียนหลายวิธีได้เท่าไหร่ ขณะเดียวกันก็ได้มีการถอดบทเรียนว่าปัญหาอุปสรรคที่พบจากการจัดการเรียนการสอนแต่ละวิธีมีอะไรบ้าง และจะสามารถแก้ปัญหาการเรียนแต่ละวิธีได้อย่างไร โดยจากวันนี้ถึงวันที่ 16 พ.ค.นี้ สพฐ.จะปรับคลังสื่อและคลังแพลตฟอร์มที่มีอยู่ เพื่อจัดหมวดหมู่และจำแนกให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงและดึงสื่อ อุปกรณ์การเรียน แพลตฟอร์มไปใช้ได้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ในการพัฒนาครูให้มีทักษะในการจัดการเรียนการสอน ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาครูให้สอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดการสอนออนแอร์ สพฐ.จะประสานกับ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ในการจัดตารางสอนให้เชื่อมโยงกับตารางเรียนปกติ โดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย. นอกจากนี้จะแสวงหาวิธีที่จะหาอุปกรณ์ให้นักเรียนปลายทางสามารถเรียนออนแอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ สพฐ.เตรียมการไว้ คือ ถ้าเรียนในโรงเรียนได้จะใช้ออนไซท์เป็นฐาน ถ้าเรียนในโรงเรียนไม่ได้จะให้ดูนักเรียนเป็นสำคัญ ว่า เรียนระบบไหนได้ แต่ถ้าระบบไหนก็ไม่ได้ก็จะหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป โดยย้ำว่าจะไม่มุ่งไปที่การเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง แต่จะทำให้ผู้ปกครองรู้สึสบายใจว่า ลูกได้เรียนและมีเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนที่พร้อมจะเรียนได้ นอกจากนี้จะร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)นำตารางการเรียนที่กศน.จัดผ่านระบบทีวี และระบบวิทยุ มาดูว่าส่วนไหนที่ตรงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ก็จะให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เข้าไปเรียนได้ตามเวลาที่ออกอากาศ
“ยังมีอีกประเด็น คือ รมว.ศึกษาธิการมีความห่วงใยเด็ก ๆ ว่า แทนที่จะได้เรียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เมื่อเลื่อนไปเปิดเทอมวันที่ 1 มิ.ย. ช่วงเวลาวันที่ 17 – 31 พ.ค. เด็กๆจะทำอะไร สพฐ.ก็ได้เตรียมหากิจกรรมทางเลือกผ่านระบบออนไลน์ที่เป็นทักษะชีวิตให้เด็กได้เรียนรู้ เช่น การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด กิจกรรมทำอาหาร ปลูกผัก เป็นต้น โดยกิจกรรมเหล่านั้นเป็นการเปิดให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ตามความสมัครใจไม่เป็นการบังคับไม่นับหน่วยกิต หรือ บางโรงเรียนอาจจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมกับนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็ได้เพื่อให้สามารถเริ่มการเรียนการสอนได้ทันทีในวันที่ 1 มิ.ย.”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สำหรับการรับนักเรียน ม.1 ม.4 ที่มีการเลื่อนปฏิทินออกไป นั้น สพฐ.ได้ทำมาตรการเพื่อขอให้ ศบค.ชุดเล็กให้ความเห็นชอบ เรื่องการจับฉลากนักเรียน ม.1 โดยพิจารณาบนพื้นฐานความเชื่อว่า เมื่อถึงวันที่ 14 พ.ค.ทุกอย่างน่าจะคลี่คลายลง ก็จะเปิดช่องให้มีการจับฉลาก โดยมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามที่ ศบค.กำหนด ทั้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้าไปจับฉลาก การเว้นระยะห่าง การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น ทั้งนี้คิดว่าคงจะไม่เลื่อนออกไปอีกแล้วเพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของนักเรียนทั้งระบบ ส่วนเรื่องการนับเวลาเรียนของเด็กที่ขาดหายไปก็ได้มอบให้โรงเรียนกำหนดวันหรือชั่วโมงการเรียนเพิ่มทดแทน 11 วันที่หายไป เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเรียนครบ และการวัดประเมินผลก็จะเดินไปตามปกติ