น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ในการประชุม SEAMEO Congress 2021 หัวข้อ“Transforming Southeast Asian Education, Science and Culture in the Digital Age” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอ (SEAMEO) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงความท้าทายของโลกในยุค VUCA ได้แก่ Volatility – ความผันผวนสูง, Uncertainty – ความไม่แน่นอนสูง, Complexity – ความซับซ้อน และ Ambiguity – ความคลุมเครือ ที่มีการผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 ที่ก่อให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยมีความเป็นไปได้ในการนำ AI มาใช้แทนการทำงานของมนุษย์ และเพื่อให้โลกดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานและมีความยั่งยืน เราต้องร่วมมือกันในการสำรวจทิศทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการศึกษา และเป็นอุปสรรคต่อนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาแสวงหาแนวทางที่จะส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสร้างความตระหนักรู้เพื่อนำไปสู่ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้กล่าวในการประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 5 หัวข้อ “Southeast Asian Education and Future’s Agenda” ถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม ซึ่งเป็นวาระอนาคตของประเทศสมาชิกซีมีโอเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วยว่า ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเน้นผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา หรือ Student Centricity โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางที่เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ active learning เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ทำ และเกิดการเรียนรู้พร้อมนำไปปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนในรายวิชาประวัติศาสตร์ไทยและหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีทักษะความเป็นพลเมืองโลก ตลอดจนพัฒนาด้านอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับเยาวชนในการหารายได้เลี้ยงชีพ สามารถพึ่งพาตนเองและแข่งขันกับผู้อื่นได้ในระดับโลก

“ ได้มีการพูดถึงการพลิกโฉมระบบการศึกษาของไทย โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยเอื้อต่อการออกแบบการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทุกระดับ ซึ่งการศึกษาทางไกล ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เปรียบเสมือนเวทีแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีทักษะดิจิทัลในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ที่เน้นให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาจากหลากหลายแง่มุม ซึ่งจะเป็นการยกระดับทักษะการคิดวิเคราะห์ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งเสริมสร้างศักยภาพครูด้านทักษะภาษาและทักษะดิจิทัล โดยคัดเลือกครูแกนนำที่มีทักษะคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับดี เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูในเรื่องการรู้ดิจิทัลแล้ว” น.ส.ตรีนุช กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอภายใต้ข้อริเริ่มโครงการ SEAMEO CARES และแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของซีมีโอ (ปี 2564-2573) ซึ่งเน้นย้ำถึงการดำเนินข้อพันธกิจร่วมกันของประเทศสมาชิกซีมีโอในการปรับรูปแบบการพัฒนาของภูมิภาคให้ปรากฎเป็นจริงขึ้นมาได้ในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนด้านการศึกษาในชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal in education โดยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างครอบคลุมและเติบโตเป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ หากมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะไม่ใช่อุปสรรคต่อการพัฒนา แต่จะช่วยให้เกิดมิติใหม่ทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เสริมสร้างสมรรถนะของเยาวชนและผู้เรียนในยุคอัลฟ่า (Alpha generation learners) ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และแน่นอนว่า การลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอนาคตของผู้เรียนในยุคอัลฟ่า และขอให้มั่นใจว่า ผู้เรียนจะต้องได้กลับเข้าเรียนในโรงเรียนโดยเร็วที่สุด

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments