ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา(กสส.)ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามโครงการประชุมระดมความเห็น เรื่อง “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : กรณีศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี”ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม ว่า คณะอนุกรรมการฯลดความเหลื่อมล้ำฯ ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับความยากจน ด้อยโอกาส ขาดโอกาส เพื่อนำไปสรุปเสนอผู้มีอำนาจตัดสินใจต่อไป โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากลงพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดเลย และครั้งนี้ภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป้าหมายหลักคือดูการจัดการศึกษาของโรงเรียนบนเกาะ ซึ่งทำให้เห็นข้อจำกัด ความขาดแคลน เช่น ในการเดินทางขึ้นฝั่งต้องมีค่าใช้จ่ายมากและใช้เวลาเยอะ หรือจำนวนเด็กลดลงซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ รวมถึงปัญหาครูไม่พอหรือครูไม่ตรงสาขา แต่ก็ขอชื่นชมโรงเรียนที่มีความเข้มแข็งพยายามช่วยเหลือตัวเอง เนื่องจากมีข้อกำกัดเรื่องงบประมาณก็พยายามหารายได้ด้วยตัวเอง และแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น  จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นชมและทำให้เด็กมีคุณภาพในการเรียนที่ดี สามารถจัดอาหารกลางวันให้เด็กได้ทุกคน

ศ.ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาบุคลากรที่พบหลัก ๆ คือ ข้อจำกัดเรื่องบุคลากรกำลังจะลดลงเพราะจำนวนเด็กลดลง ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์สัดส่วนครูต่อนักเรียนของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) แต่ก็มีโอกาสที่ดีที่ปัจจุบันมีกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาคอยดูแลตามนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักว่าจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเด็กบนเกาะมีโอกาสถูกทิ้งพอสมควร ถึงแม้จะมีข้อเสนอให้เด็กย้ายไปเรียนบนฝั่ง แต่ผู้ปกครองก็ยังอยากให้ลูกเรียนอยู่บนเกาะ ไม่สะดวกใจให้ฝากเด็กไว้กับคนอื่น โดยทางกองทุนเสมอภาคฯเข้ามาดูแลช่วยเหลือทั้งงบฯสำหรับเด็กที่ยากจนพิเศษ การแก้ปัญหาขาดครูด้วยโครงการครูรักษ์ถิ่น โดยการหาเด็กที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้เรียนจนจบด้านครูประถมศึกษาแล้วกลับมาเป็นครูในพื้นที่เพื่อจะได้อยู่อย่างยั่งยืน

“อย่างไรก็ตามสิ่งที่คณะอนุกรรมการฯอยากเห็น คือเรื่องการมีฐานข้อมูลที่แม่นตรง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่พบจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อเด็กจบออกไปก็ยังไปมาหาสู่ส่งข่าวกันครูก็จะรู้ว่าเด็กจบแล้วไปไหนต่อ ซึ่งในแง่วิชาการก็อยากเห็นพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลเด็กที่เป็นระบบเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินสภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นหากทำลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องมีฐานข้อมูลที่ดี มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้สิ่งที่เป็นข้อสังเกตเรื่องฐานข้อมูลนี้มีความสอดคล้องกับทางกองทุนเสมอภาคฯที่พยายามพัฒนาฐานข้อมูล โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ทะเบียนสาธารณสุข เป็นต้น เพราะเรื่องที่เราอยากรู้เกี่ยวกับเด็กไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น ต้องรู้เรื่องสุขภาพด้วย ถ้าสุขภาพไม่ดีการเรียนก็อาจไม่มีประสิทธิภาพ อาจมีปัญหาเด็กทุพโภชนาการได้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอก็สัมพันธ์กับการศึกษาแน่นอน”ศ.ดร.ดิเรกกล่าว

ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาฯกล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงที่จะนำไปสู่ข้อสังเกตเพื่อนำเสนอสภาการศึกษา สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษาของชาติ โดยมีหลายประเด็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่นการจัดสรรงบประมาณแบบเหมาโหลน่าจะไม่เหมะสม อย่างครั้งนี้เห็นชัดเจนว่า น้ำดื่มบนฝั่งขวดละ 10 บาท แต่พอมาบนเกาะ 30 บาท เพราะมีค่าขนส่ง และการเดินทางก็ไม่สามารถไปกลับได้ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ก็ขอชื่นชมในความจำกัดและความขาดแคลน แต่ครูและเด็กก็มีกำลังใจ ดูจากลักษณะเด็กมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ผลการเรียนหรือคะแนนโอเน็ตมีค่าเฉลี่ยไม่ด้อยกว่าเด็กบนฝั่ง บางโรงเรียนอาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศเสียอีก เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ทำให้ได้รับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในกติกา การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรกำลังคนที่ไม่อิงกติกาแบบเหมาโหลจนเกินไป เพราะสภาพพิเศษก็ต้องการการจัดสรรแบบพิเศษ

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments