เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ 2/2564 โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุม กกส.ได้หารือวาระสำคัญ คือ แนวทางการยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยในเวทีสากลด้วยการพัฒนาอันดับดัชนีตัวชี้วัดทางการศึกษาในระดับนานาชาติ (IMD) ขณะที่สังคมไทยคาดหวังต่อคุณภาพการศึกษา ต้องยอมรับว่าคุณภาพนักเรียนไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนด้วยกันยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 55 ดีขึ้นจากปี 2562 ที่ 56 ถึงแม้จะมีอันดับที่ดีขึ้น แต่ยังห่างจากค่าเป้าหมายที่กําหนดไว้ในปี 2565 (อันดับที่ 45) และเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนพบว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านการศึกษาของประเทศไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ และ มาเลเซีย
ดร.อำนาจ กล่าวต่อไปว่า สภาการศึกษา(สกศ.)ได้ สังเคราะห์แนวทางการดําเนินงานในระยะเร่งด่วน เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ สถานประกอบการในการผลิตกําลังคนที่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ พัฒนาวิธีการจัดการจัดการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาทักษะด้านการอ่าน ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมเร่งจัดทําระบบฐานข้อมูลรายบุคคลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อให้มีข้อมูลเชิงปริมาณ (Hard data) ที่สะท้อนการบริหารจัดการศึกษาที่ถูกต้องตามบริบทเชิงพื้นที่ ขณะที่แนวทางการดําเนินงานในระยะยาว มีการหารือถึงกลยุทธ์ยกระดับการศึกษาใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับหลักสูตร ที่เน้นการพัฒนาความรู้ ทักษะสมรรถนะที่จําเป็นอย่างแท้จริง ปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไปไม่เน้นสอนเฉพาะความรู้และทฤษฎีอย่างเดียว แต่ควรเน้นการทํากิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ทักษะการทํางานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร และทักษะอื่น ๆ ที่จําเป็นด้วย
“ สกศ. อยู่ระหว่างดําเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 4 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการศึกษาแห่งชาติ 2. กฎหมายว่าด้วยสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ 3. กฎหมายว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศ และ และ 4. กฎหมายว่าด้วยสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อการศึกษา โดยกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว มีสาระสําคัญที่เชื่อมโยงกับบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่ประชุม กกส.ได้รับทราบผลดําเนินงานด้านกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และได้เตรียมการเพื่อรองรับกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ด้วย