จากกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้เลื่อนวันสอบเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ด้วยระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส เนื่องจากตรงกับวันสำคัญอื่นที่กำหนดไว้ เช่น การทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพหรือ PAT ในวันที่ 20 – 23 มีนาคม ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน, วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 – 4 เมษายน และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต ซึ่งสอบวันที่ 27 – 28 มีนาคม ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนได้รับเนื้อหาวิชาไม่เต็มที่ หากไม่พิจารณาเลื่อนวันสอบ อาจเป็นการตัดโอกาสนักเรียนที่ต้องเข้าการสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมากนั้น
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอชี้แจงว่า การกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงเวลารับสมัคร วันเวลาสอบ ประกาศผลสอบ การใช้ประโยชน์ของผลสอบ และขั้นตอนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ( สทศ.) จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับตารางเวลาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนด คือ วันสอบวิชาสามัญ ซึ่งตรงกับการเกณฑ์ทหาร ระหว่างวันที่ 1–20 เมษายน นั้น อาจต้องมีผู้เข้าสอบจำนวนหนึ่งต้องเข้ารับการคัดเลือก แต่กองทัพบกก็ได้ประกาศหลักเกณฑ์การทำคำร้อง ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารไว้ ผู้สมัครสามารถใช้เป็นเหตุผลในการผ่อนผันได้ ในส่วนของวันสอบโอเน็ต ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 คณะกรรมการ สทศ. ได้พิจารณาถึงความสำคัญของการใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นักเรียน ชั้น ม. 6 ยังสามารถเข้าสอบโอเน็ตได้ โดยยังอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการการสอบตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นสมควรให้เลื่อนกำหนดการทดสอบโอเน็ต ชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2563 จากวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ไปเป็นวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม แทน โดยใช้เวลาสอบ รหัสวิชา รายวิชา และระยะเวลาตามตารางสอบเดิม
วันสอบ GAT/PAT ซึ่งอาจตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียนบางแห่งนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แจ้งโรงเรียนต่าง ๆ ให้กำหนดวันสอบปลายภาคของนักเรียนชั้น ม. 6 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ซึ่งการกำหนดวันสอบปลายภาคเป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่งที่จะพิจารณาวันสอบที่เหมาะสมกับนักเรียนของตนเอง เพราะโรงเรียนจะทราบเรื่องการจัดปฏิทินวันสอบปลายภาคให้นักเรียนชั้น ม.6 ก่อนการสอบปลายภาคของนักเรียน ม.4 และ ม.5 เพื่อให้นักเรียน ม.6 มีเวลาในการเตรียมตัวเข้าสอบคัดเลือกต่อไป
ส่วนการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักเรียนได้รับเนื้อหาวิชาไม่เต็มที่ นักเรียน ชั้น ม.ปลายที่มุ่งจะศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา จะทราบดีว่า ต้องมีการสอบ GAT/PAT O-NET และวิชาสามัญ เพื่อใช้ผลคะแนนในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นักเรียนทุกคนจึงเตรียมตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ม.4 จนถึงวันที่จะสอบ โดย สทศ.จะใช้ข้อสอบที่มีเนื้อหาครอบคลุมสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ ชั้น ม. 4 ถึง ม. 6 ดังนั้นการวางแผนเตรียมตัวในเรื่องการเรียนมาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถและทักษะเพียงพอที่จะเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการได้ ไม่ใช่เตรียมตัวเพียง 1-2 เดือน อว. และ ศธ. มีความเห็นว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบกับนักเรียนทุกคนเช่นเดียวกันทั้งประเทศ การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ ศธ. และนักเรียนทุกคนคงมีโอกาสเรียนรู้และปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนักเรียนจำนวนมากได้มีความพร้อม มีการวางแผนการเรียนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทาง การหาที่พัก การเตรียมตัวสมัครในแต่ละรอบ ความพร้อมของตนเองในช่วงเวลานั้น ๆ จึงอาจกระทบกับผู้สมัครจำนวนมากที่พร้อมกับแผนการสอบที่วางไว้ ดังนั้น นับจากวันนี้เหลือเวลาอีกราว 20 วัน กระบวนการสอบก็จะเกิดขึ้น ตามปฏิทินการสอบที่ปรับแล้วของแต่ละรายวิชา การเตรียมการต่าง ๆ ทั้งการจัดทำข้อสอบ การจัดส่งข้อสอบ การจัดสนามสอบและห้องสอบ การจัดกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบได้เตรียมพร้อมดำเนินการทั้งหมดแล้ว อว.และ ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยได้ขอให้ ทปอ. และ สทศ. ได้จัดทำมาตรการด้านสาธารณสุข เสนอต่อ ศบค. เพื่อให้มีการอนุมัติกระบวนการที่ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในแต่ละสนามสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนทุกคน