เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผย ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้มีการขับเคลื่อนทักษะภาษาอังกฤษสำหรับครูในปีการศึกษา 2564 ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ครูมีสมรรนะเพิ่มเติมใน 3 เรื่อง คือ 1.ทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการนำเสนอ 2.ทักษะการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และ3.ทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญและเป็นเครื่องมือสำหรับครูที่จะใช้ในการสื่อสารกับนักเรียน รวมถึงเป็นเครื่องมือในการแสวงหาองค์ความรู้ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะภาษาอังกฤษและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจากความจำเป็นดังกล่าว สพฐ.จึงมีนโยบายให้ครูประเมินตนเอง เพื่อไปพัฒนาโดยผ่านกลไกของศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC)ของสพฐ.ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสพฐ.
“ในการประเมินทักษะภาษาอังกฤษจะมีด้วยกัน 6 ระดับ คือ A1 A2 B1 B2 C1 C2 ซึ่งผลการประเมินจะไม่มีผลต่อเงินเดือน หรือการเลื่อนวิทยฐานะแต่อย่างใด แต่เป็นการประเมินเพื่อให้ครูที่ได้ผลการประเมินระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ควรไปเข้ารับการพัฒนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะในทักษะภาษาอังกฤษเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้รับโทษแต่อย่างใด และหากใครต้องการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แม้จะประเมินได้ในระดับA1 ก็สามารถยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ตามเกณฑ์ที่ก.ค.ศ.กำหนดทั้งเกณฑ์เก่าและเกณฑ์ใหม่ เพียงแต่เกณฑ์ทางก.ค.ศ.ได้กำหนดไว้ว่า ครูที่จบวิชาเอกภาษาอังกฤษและสอนภาษาอังกฤษโดยตรง ถ้าประเมินแล้วได้ระดับB1 สามารถนำผลการประเมินไปขอลดระยะเวลาในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการมีทักษะภาษาอังกฤษของครูจะเป็นแต้มต่อในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเกณฑ์หรือคุณสมบัติอย่างที่เข้าใจ”เลขาธิการกพฐ.กล่าว