เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึง นโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ทำโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนดีสี่มุมเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ว่า โรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนดีสี่มุมเมืองเกิดขึ้นเนื่องจากนับวันโรงเรียนประถมศึกษาจะมีขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญหาในการบริหารตามมา โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ และบุคลากรที่มีข้อจำกัด ขณะเดียวกันโรงเรียนในเมืองที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ขณะที่โรงเรียนประถมศึกษาก็มีโรงเรียนขยายโอกาส แต่จำนวนนักเรียนมีไม่มาก จึงเป็นเหตุผลให้นายณัฏฐพล มีนโยบายให้มีโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพราะปัจจุบัน สพฐ.มีโรงเรียนเกือบ 30,000 โรง เมื่อจัดสรรงบประมาณลงไปก็จะได้ไม่มาก และในระยะยาวก็จะเกิดปัญหาไม่รู้จบ แต่โครงการนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตที่จะทำให้เด็กได้เรียนอย่างมีคุณภาพ และเด็กจะมีคุณภาพอย่างที่สังคมคาดหวัง เพราะมีทั้งครู และแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเรียนใกล้บ้าน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ถ้าจะให้จัดการศึกษาโดยจัดหาปัจจัยขั้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง จะต้องทำโรงเรียนให้มีคุณภาพ โดยโรงเรียนที่อยู่ตามภูเขา เกาะแก่ง ห่างไกล กันดาร ที่จะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ หรือเป็นโรงเรียนสแตนอโลนก็ต้องหาปัจจัยได้อย่างเพียงพอ ส่วนกลุ่มพื้นราบ คือ เราไม่สามารถจัดปัจจัยให้กับโรงเรียนได้ทุกโรงอย่างเท่าเทียมกัน จึงเกิดแนวคิดในการจัดหาโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางของโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วเข้าไปปรับปรุงพัฒนาให้มีปัจจัยพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอ แล้วให้โรงเรียนที่อยู่รอบ ๆ ที่เดินทางมาถึงได้ไม่ไกลมาเรียนรวมกันที่นี่ มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน ห้องปฏิบัติการและบุคลากรร่วมกัน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อเด็กจะไม่ไหลไปเรียนที่ในเมือง เด็กยากจนก็จะได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดคุณภาพที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และทำโรงเรียนมัธยมที่อยู่รอบนอกให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนประจำจังหวัด เพื่อสกัดไม่ให้เด็กเข้าไปเรียนในเมืองและรองรับเด็กจากโรงเรียนขยายโอกาส เรียกว่าโรงเรียนดีสี่มุมเมือง
“การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้ง3 กลุ่มดังกล่าว เป็นการตอบโจทย์และเป็นหัวใจของการจัดการเรียนอย่างเต็มศักดิ์ยภาพ โดยรมว.ศึกษาธิการตั้งเป้าที่จะนำร่องในปีการศึกษา 2565 โดยคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพของชุมชนเขตละ 1 แห่ง และโรงเรียนดีสี่มุมเมืองจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อทดลองให้ประชาสังคม ชุมชน และผู้ปกครองเห็นว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ โดยรมว.ศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งผู้แทนเพื่อติดตามการดำเนินการในทุกจังหวัด ส่วนปีต่อไปจะมีโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนดีสี่มุมเมืองกี่แห่งจึงจะครอบคลุมก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 เป็นตัวกลางทำแผนกำหนดเป้าหมาย แล้วผู้แทนจะลงไปประเมินเพื่อมาสรุปภาพรวมทั้งประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป”ดร.อัมพร กล่าวและว่า ส่วนที่มีความกังวลว่าโครงการนี้ทำขึ้นมาเพื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ขอชี้แจงว่าไม่ได้มุ่งเพื่อการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และเมื่อเด็กมาเรียนรวมกันแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะหายไป หรือตำแหน่งครูจะถูกยุบ ทุกตำแหน่งยังเหมือนเดิม เพราะเป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพที่อยู่ใกล้บ้าน