เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการสร้างโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนดีสี่มุมเมือง ว่า หลังจากผ่านระยะที่ 1 ที่ให้เขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เตรียมข้อมูล ออกแบบแนวทางและกำหนดจุดที่จะดำเนินการ ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นการดำเนินการระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่เพื่อดูสภาพจริง โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการเฟส 2 ไว้ว่า จังหวัดขนาดเล็กให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จังหวัดขนาดกลาง 2 เดือน และ จังหวัดขนาดใหญ่ 3 เดือน จากนั้นให้นำเสนอคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) เพื่อให้แต่ละ กศจ.ได้เห็นว่า จังหวัดของตนเองจะมีโรงเรียนคุณภาพของชุมชนกี่แห่ง และโรงเรียนดีสี่มุมเมืองกี่แห่ง และในปีงบประมาณ 2565 จะใช้งบฯดำเนินการเร่งด่วนที่ไหน เท่าไหร่
“หลังจากได้ข้อสรุปจากจังหวัดแล้วก็จะเข้าสู่การดำเนินการระยะที่ 3 โดย รมว.ศึกษาธิการจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แล้วนำลงสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ปีการศึกษา 2565 จะมีโรงเรียนคุณภาพของชุมชนอย่างน้อยเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 แห่ง รวมเป็น 183 แห่ง และโรงเรียนดีสี่มุมเมือง จังหวัดละ 1 แห่ง รวม 77 แห่ง” เลขาธิการกพฐ.กล่าว
ขอให้โรงเรียนคุณภาพของชุมชนเกิดได้จริงครับเพราะสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กขณะนี้ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ภายใต้กฎหมายทึ่เกี่ยวข้องและยังส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยให้ต่ำลงคือ โรงเรียนไม่มีผอ.โรงเรียน/ครูไม่ครบชั้น/ครูสอนไม่ตรงตามวิชาจบมา/งบประมาณอุดหนุนจำกัดตามจำนวนนักเรียนฯลฯ#นี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ