เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการจัดการศึกษา ในการเปิดการเรียนการสอนปกติวันแรก ที่โรงเรียนวัดรางบัว เขตภาษเจริญ และ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ว่า ทุกโรงเรียนมีความมั่นใจในการบริหารจัดการในการเปิดเรียนในวันนี้ โดยทุกโรงเรียนในกรุงเทพปริมณฑลและนครปฐม ก็เป็นโรงเรียนที่คุมจำนวนนักเรียนไม่เกิน25คนต่อห้อง ซึ่งหวังว่าจะมีการบริหารจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างได้ และมีความเข้มงวดเรื่องการใส่หน้ากาก ล้างมือ และการตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่อันตรายอยู่ โดยผู้บริหาร นักเรียน และครู ต้องเข้าใจ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่ามาตรฐานและความเข้มงวดนี้จะทำให้การจัดเรียนการสอนเป็นไปได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนบางคนอาจจะยังไม่มีความมั่นใจ หรือไม่อยากมาโรงเรียนโรงเรียนก็สามารถส่งใบงานหรือแบบฝึกหัดให้ทำได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตที่ถ้าทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำให้สามารถผ่านวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การเรียนออนไลน์มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองด้าน ทั้งได้ความรู้มากขึ้น ขณะที่บางส่วนก็อยากกลับมาเรียนที่โรงเรียนเพราะได้ความรู้มากกว่า ซึ่งเราก็ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลสำหรับการเรียนการสอน และในอนาคต การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานต้องมีแน่นอน ถึงแม้จะไม่มีวิกฤตแล้ว เพราะโลกปัจจุบันวิชาอะไรก็ตาม หรือทักษะต่าง ๆ สามารถเพิ่มเติมได้ด้วยการเรียนการสอนออนไลน์ อย่างไรก็ตามการเรียนที่โรงเรียนก็ยังคงเป็นหลักในการให้ความรู้ผ่านครู และการใช้ชีวิตร่วมกันของนักเรียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
“ส่วนกรณีแค่เดินข้ามสะพานก็ถึงโรงเรียนแต่ไปโรงเรียนไม่ได้นั้น การวางแผนต้องขีดกรอบให้ชัดเจน ส่วนการบริหารจัดการต้องมีความยืดหยุ่น มั่นใจว่าโรงเรียนสามารถแยกแยะได้ และน้อง ๆ ก็สามารถรับการจัดการเรียนการสอนได้ ไม่ว่าจะเป็นใบงานหรือมาที่โรงเรียนก็ต้องทำความเข้าใจ ว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความเสี่ยงต่าง ๆ โรงเรียนต้องดูความเหมาะสมเพื่อความปลิดภัยของเด็กทั้งโรงเรียน ไม่มีใครพอใจทั้งหมดหรอก จะเปิดเรียนที่โรงเรียนทั้งหมดหรือเรียนผสมผสาน หรือเรียนออนไลน์ที่บ้าน ทุกการตัดสินใจมีคนไม่เห็นด้วยแน่นอน แต่เรามั่นใจว่าเราตัดสินใจบนพื้นฐานความปลอดภัยของนัดเรียน และการให้ความรู้นักเรียนที่มีคุณภาพ”นายณัฏฐพล กล่าวและว่า ต่อไปหลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น วันนี้เราเอามาตรฐานการศึกษามาครอบความสนใจของเด็ก โดยเฉพาะเด็กชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเด็กมีความสนใจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราต้องสร้างความยืดหยุ่นทางการศึกษา การที่โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ทำให้โรงเรียนมีโอกาสดูความสามารถของตัวเอง โดยเฉพาะความสามารถเฉพาะทางที่มีความถนัด แต่วันนี้เรายังมีข้อกังวลว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกติกาของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้โอกาสที่จะคิด ฝัน ในแนวทางของโรงเรียนอยากจะเป็นยังมีข้อจำกัดอยู่