เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) ว่า ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดเล็ก ได้อนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้โรงเรียนใน 28 จังหวัด กลับมาทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.พ.2564 ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดทำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป  ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ)ยังเป็นพื้นที่ที่ต้องระมัดระวัง แต่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ โดยห้องเรียนมีนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง  ถ้าโรงเรียนไหนมีนักเรียนมากกว่า 25 คนต่อห้องก็ต้องเข้าสู่มาตรการที่เคยทำมาแล้วในการระบาดรอบแรก คือ เรียนสลับวัน หรือ สลับอาทิตย์  ทั้งนี้ให้ดำเนินการถึงวันที่ 15 ก.พ.2564 จากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์ หากสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนตามปกติได้

“การประกาศครั้งนี้โรงเรียนจะทราบดีว่า เด็กคนไหนมาจากจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีความเสี่ยง  ก็ต้องจัดการเรียนออนไลน์ให้  หรือให้ใบงานไปทำก็ได้   ทั้งนี้หากโรงเรียนเปิดสอนตามปกติแล้ว แต่ผู้ปกครองอาจยังไม่สะดวกใจให้ลูกมาเรียน ที่โรงเรียนเนื่องจากกังวลเรื่องการแพร่ระบาดอยู่ โรงเรียนก็ต้องบริหารจัดการให้” นายณัฏฐพล กล่าวและว่า การประกาศเปิดเรียนดังกล่าวทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถคำนวณได้ว่า จำนวนวันที่หายไปโดยไม่ได้ให้บริการเรื่องต่าง ๆ แก่นักเรียน จะสามารถทำเป็นส่วนลดภาระของผู้ปกครองได้อย่างไร เท่าไหร่  เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่ารถรับส่งนักเรียน หรือค่าทัศนศึกษา เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะต้องสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)จะรวบรวมข้อมูลมารายงานกระทรวงศึกษาธิการต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม( ดีอีเอส)  ก็กำลังพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนอยู่

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเอกชนพบปัญหาสภาพคล่อง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน ซึ่งมีโรงเรียนเอกชน 1,480 แห่ง ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีโรงเรียนอีก 2,000 กว่าแห่ง ที่ต้องการความช่วยเหลือจาก สช. ดังนั้นเพื่อให้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบฯ สามารถช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในระบบที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น จึงเพิ่มวงเงินให้กู้ยืมเงินจาก 1 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้จาก 2 ปี เป็น 6 ปี และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ดังนั้นถ้าโรงเรียนได้กู้เงินจาก สช.ไปแล้ว 1 ล้าน ก็สามารถยื่นเรื่องขอกู้เพิ่มเติมได้

“นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ในส่วนของเงินสมบทเป็นเงินเดือนครู ประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้ได้รับเท่ากับการอุดหนุนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา จำนวน 450 บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 โดย ศธ.จะนำเรื่องนี้เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายอรรถพลกล่าวและว่า สำหรับการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ซึ่ง สช.ได้ส่งหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษและการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง ถึงโรงเรียนทุกแห่งแล้ว โดยต่อไป สช.จะออกหนังสือให้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศรายงานว่า ปรับลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ปกครองได้มากน้อยแค่ไหน   ทั้งนี้ สช.ไม่สามารถบังคับให้โรงเรียนลดค่าธรรมเนียมการเรียนได้ เพราะเป็นอำนาจของกรรมการบริหารโรงเรียนในการกำหนดว่าจะเก็บเงินค่าธรรมเนียมเท่าใด

“กฎหมายให้อำนาจ กช.ไว้ ว่า หากพบโรงเรียนที่เก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะที่แสวงหากำไรเกินควร สามารถสั่งลดค่าธรรมเนียมได้ หรือถ้าโรงเรียนเก็บค่าธรรมเนียมที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ศธ.มีอำนาจสั่งลดการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนได้ และถ้าโรงเรียนไม่ลดค่าธรรมเนียม ศธ.สามารถสั่งงดดำเนินกิจการ สั่งงดรับนักเรียนในปีการศึกษาต่อไปได้ เป็นต้น เบื้องต้นพบว่ามีโรงเรียนเอกชนไม่ถึง 10% ของโรงเรียนทั้งหมด ที่อาจจะเก็บค่าธรรมเนียมค่าเล่าเรียนสูง และไม่มีคำอธิบายว่าทำไมถึงเก็บเงินสูง  ซึ่ง สช.ได้แต่งคณะทำงานลงไปตรวจสอบในโรงเรียนทุกแห่งแล้ว ดังนั้นโรงเรียนทุกแห่งต้องเตรียมรับมือ เตรียมหลักฐาน และสามารถอธิบายรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ได้” นายอรรถพล กล่าว

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  กล่าวว่า ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ. ) ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา  สั่งการให้โรงเรียนหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง  พิจารณารายการที่ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ก็ให้คืนผู้ปกครองไป เช่น การทัศนศึกษา  ถ้าไม่ได้จัดก็ต้องคืนเงินให้ผู้ปกครอง  แต่บางรายการ เช่น การจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศก็คืนไม่ได้ เพราะครูก็ยังทำหน้าที่สอน  อย่างไรก็ตามการจะคืนเงินให้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน เพราะจะมียอดที่ไม่เท่ากัน

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments