เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(บอร์ดกอศ.) ครั้งที่ 1 /2564 โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มี นายรอยล  จิตรดอน ประธาน บอร์ดกอศ. และกรรมการ บอร์ดกอศ. ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ในฐานะเลขานุการบอร์ดกอศ.เข้าร่วมประชุม

นายรอยล  จิตรดอน ประธาน บอร์ดกอศ.กว่าวว่า เป็นการประชุมบอร์ดกอศ.นัดแรก ซึ่งนายณัฏฐพลได้ให้นโยบายและพูดถึงปัญหาของการจัดการอาชีวศึกษาว่าอยู่ตรงไหน ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าการจัดการอาชีวศึกษาที่ผ่านมาเป็นการจัดตามความเติบโตของภาคเอกชน ไม่ได้จัดเพื่อรองรับภาครัฐ เช่น เด็กเรียนเกษตรจบออกไปก็เป็นเกษตรกร ซึ่งตอนนี้เราต้องมองถึงจุดแข็งของเราว่าอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะช่วงนี้อยู่ในยุคของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สินค้าเกษตรของประเทศส่งออกร้อยละ 30 ก็ต้องมาดูว่าเราจะต่อยอดกันอย่างไร ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าเศรษฐกิจ 40-50 ล้านไร่ ทำไมเราไม่ทำวิทยาลัยป่าไม้ ซึ่งโอกาสตรงนี้เยอะมาก

“วิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องรู้ว่าตัวเองมีความเข้มแข็งและมีความถนัดในเรื่องอะไร จะได้จัดการอาชีวศึกษาให้ถูกจุด ถ้าเรามัวแต่เงียบ แก้ปัญหาอย่างเดียว ก็จะเดินหน้าไม่ได้ ต้องหาตัวเองให้เจอ แล้วเราจะเสริมทัพเข้าไป ผมเคยถวายงานรัชกาลที่9  ท่านสอนให้รู้ว่า ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาอะไรเราต้องรู้จักตัวเอง ต้องมีความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และร่วมมือกันให้ได้”ประธานบอร์ดกอศ.กล่าว

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายบอร์ดกอศ.ชุดใหม่ เพื่อให้รับทราบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการผลักดันอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ตนได้มอบแนวทางการศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา หรือศูนย์ Excellent Center และศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ หรือ HCEC รวมถึงแผนพัฒนาครูและความตั้งใจที่จะผลักดันการเกษตรของอาชีวศึกษาด้วย ทั้งนี้ บอร์ดกอศ.ได้แสดงความคิดอย่างหลากหลายที่เป็นประโยชน์ในการเข้าไปแก้ไขพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา เช่น การผลักดันเกษตรแม่นยำ ที่ต้องขยายผลอย่างกว้างขวาง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีพื้นที่ทำการเกษตรมาก แต่ยังไม่สามารถทดลองและขยายผลได้ ทั้งนี้จะต้องผลักดันโครงการ 1 วิทยาลัย 1 เอกชน ให้มีคุณภาพให้ได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้บอร์ดกอศ. ยังได้เสนอให้ สอศ.เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาชีวศึกษากับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจน้ำ เรื่องการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อพัฒนาผู้เรียนในอนาคต เป็นต้น แต่ก็ได้พูดเสมอว่าอะไรที่ไม่มีความเขียวชาญก็อย่าทำ และหลักสูตรอาชีวศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งเลขาธิการกอศ. จะรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ รวมถึงการที่เทียบมาตรฐานคุณวุฒิให้กับผู้เรียนอาชีวะ ที่จะต้องมีมาตรฐานเพื่อลดความซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันก็จะให้มีการสร้างธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่อยกิตไปต่อยอดในอนาคต ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เรียนจบแล้วมีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments