เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 ศ.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อการบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา:กรณีศึกษาจังหวัดเลย เพื่อรับทราบข้อมูล สภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.2563 ว่า จากการลงพื้นที่ ที่จังหวัดเลย ทำให้พบปัญหาและความด้อยโอกาสที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็ได้เห็นถึงความสามารถของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ในการแก้ปัญหาบนความแร้นแค้นได้เป็นอย่างดี ทั้งที่งบประมาณก็จำกัด แต่สามารถช่วยเหลือเด็กได้มาก ขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่ายที่ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อย่างเช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ที่สามารถช่วยให้เกิดการทำงานเชิงรุกได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโรงเรียนด้วย

ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวต่อไปว่า ในการลงพื้นที่นอกจากต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณแล้วยังต้องการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำกลับมาคิดในเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนและลดปัญหาความไม่เป็นธรรม ซึ่งเท่าที่จับประเด็นได้ ก็พบว่าเรื่องของกฎระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมล้วนแต่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำเช่นกัน เช่น โรงเรียนขนาดเล็กซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารก็มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่เราก็ได้เห็นการดำเนินการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จคือ การควบรวมโรงเรียน โดยไม่ใช้คำว่าควบรวม แต่ในทางปฏิบัติก็คือการควบรวมโดยปริยาย ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จด้วยดีเป็นเรื่องที่น่าจะต้องทำต่อไป

“ยังมีอีกเรื่องที่คณะอนุกรรมการฯได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือ เงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จประการหนึ่งคือการจัดรถรับส่งนักเรียนต้องเป็นรถสภาพดีให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจ และเกิดความร่วมมือ ไม่ใช่เอารถอะไรก็ได้มารับส่งนักเรียน ซึ่งผมคิดว่า นี่ ก็เป็นทางออกและก็ไม่ได้สิ้นเปลืองมาก ถ้าเทียบกับต้องเสียงบประมาณไปเลี้ยงโรงเรียนที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เราได้ข้อคิดที่จะนำไปเสนอแนะกับผู้บริหารระดับสูง โดยเริ่มตั้งแต่สภาการศึกษา อนุกรรมาธิการ กรรมาธิการการศึกษา กรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะมีทางออก อีกทั้งเรามีเจ้าภาพหลายส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ว่าถ้าเราสามารถสื่อสารให้ดีเขาก็พร้อมจะเข้ามาช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสามารถขับเคลื่อนได้แน่นอน”ศ.ดิเรก กล่าว

ประธานอนุกรรมการฯกล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานก็พอเห็นภาพที่จะสามารถเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาได้บ้างแล้ว แต่ทางคณะอนุกรรมการฯยังต้องลงพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเท่าที่ฟังข้อมูลหัวใจสำคัญของความเหลื่อมล้ำก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจ พ่อแม่ มีงบฯจำกัด พ่อแม่ ไม่ได้อยู่กับลูก ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทิ้งลูกให้อยู่กับคนแก่ ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น แต่ก็มีแนวทางแก้ไขปัญหาได้ เช่น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น หรือ การจัดสรรครูจากหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย เป็นต้น เพราะฉะนั้นเชื่อว่าทุกประเด็นปัญหามีทางแก้ เพียงแต่ต้องค้นหาประเด็นให้เจอแล้วสื่อสารออกมา

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments