เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีการเลิกบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้น คณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษาที่มีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) เป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามการแต่งกายของผู้เรียนในสถานศึกษาปัจจุบันมีหลายเครื่องแบบ เช่น ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ชุดกีฬา ชุดปฎิบัติงาน ชุดท้องถิ่น หรือชุดอื่น ๆ แบบไปรเวท ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนฯ มีข้อเสนอผ่าน ศธ.ว่า ควรเป็นการหารือข้อตกลงร่วมกันของ กรรมการสถานศึกษา กับ สภานักเรียน ให้มีข้อตกลงกันว่าควรใส่ชุดใดวันใดอย่างไร แต่ต้องเข้าใจว่าต้องเป็นชุดสุภาพตามกาลเทศะ
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า สถานศึกษาก็เป็นเหมือนองค์กรทั่วไปที่คนในองค์กรมี สิทธิ และ หน้าที่ ที่ต้องทำร่วมกัน ดังนั้นต้องเข้าใจว่าสิทธิและหน้าที่เป็นความรับผิดชอบของคนในองค์กรที่ต้องดำเนินการ การยกเว้นคงต้องมีความจำเป็นและพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งสังคมแต่ละองค์กรก็มีความแตกต่าง และยืดหยุ่นไม่เหมือนกัน แต่ละบุคคลจึงอาจเลือกอยู่กับสังคมที่มีกฎเกณฑ์ที่ตนพอใจ ทั้งนี้ กรณีโรงเรียนเป็นสถานศึกษาเพื่อการพัฒนาสมรรถนะความรู้และบุคลิกภาพประชากรที่เหมาะสม
ด้านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตอนนี้ยังพบว่า บางโรงเรียนยังมีนักเรียนใส่ไปรเวทมาเรียนอยู่ แต่ไม่มากนักและมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึง100 คน จาก 50 โรงเรียนทั่วประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่าง เป็นเรื่องปกติทีเกิดขึ้นในวัยรุ่น อยากจะทำตามเพื่อน แต่พอทำไปแล้ว ก็อาจจะคิดได้ว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะกฎระเบียบยังไม่ได้รับการปรับแก้ ซึ่งตนก็ย้ำไปทางโรงเรียนว่าห้ามลงโทษนักเรียนเกินกว่า ระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งมีอยู่ 4ข้อคือ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติและทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม