เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เปิดเผยถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า หลังจากที่ก.ค.ศ.มีมติอนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งจะเห็นว่าในการปรับปรุงหลักเกณฑ์อัตรากำลังฯครั้งนี้มีเหตุผลสำคัญอยู่หลายประการ โดยเรื่องแรกคือเกณฑ์เดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งรวม18 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับบริบทของการจัดการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะมีประเด็นเรื่องอัตราการเกิดลดลง โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กก็เปลี่ยนไปจำนวนมาก ขณะเดียวกันในสัดส่วนที่ใช้มิติการคำนวณระหว่างสัดส่วนของครู กับจำนวนนักเรียนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมากับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะฉะนั้นจึงต้องมาปรับเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกณฑ์ใหม่ปี 2564 ที่จะประกาศใช้จะเป็นเกณฑ์ที่มีการวิเคราะห์โดยใช้ทั้งมิติเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในการวิเคราะห์ ซึ่งมิติในเชิงปริมาณจะเปลี่ยนจากการเอาหน่วยการวิเคราะห์ของจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนมาเป็นหน่วยการวิเคราะห์ โดยเอาโรงเรียนเป็นตัวตั้ง โดยจะกำหนดขนาดโรงเรียนตามลำดับว่าจะมีครูอยู่เท่าไหร่ เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพการศึกษาและจะใช้ภาระงานของครูมาเป็นตัวคำณวนชั่วโมงสอน ชั่วโมงเรียนร่วมกันและกำหนดให้มีอัตรากำลังสายสนับสนุนเข้ามา เพื่อให้โรงเรียนบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนมิติในเชิงคุณภาพนั้น เราต้องการที่จะลงลึกไปที่ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เรายังมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ก็คือเรื่องทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ ของเด็กซึ่งตรงนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญมากของโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่จะส่งเด็กขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้จะมีการลดงานธุรการของครูลง โดยมีสายสนับสนุนเข้าไปทำงานและเชื่อมโยงกับแผนการสรรหาที่จะมีการพัฒนาครูในอนาคต
“การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เราคำนึงถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการให้มีคุณภาพการเรียนการสอนสูงมากขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่ปรับนี้จะเห็นว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า40คน จะมีครูขั้นต่ำ 4 คน ไม่รวมโรงเรียนกลุ่มที่เป็นสแตนด์อะโลน ที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ และเขาสามารถดำเนินการด้วยตัวของเขาเองได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กตั้งแต่ 41 คนขึ้นไปถึง 81 คน การคิดคำนวณใหม่ตามสูตรนี้จะมีครู 6 คน และมีครูครบชั้น ดังนั้นโรงเรียนที่มีนักเรียน40 คนขึ้นไปครูจะต้องครบชั้น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 81 คนขึ้นไปต้องมีครู 8 คน ทั้งนี้ในการกำหนดและการคำนวณตามเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้ จะให้ความสำคัญกับรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีนักเรียน 120 คนขึ้นไป จะมีรองผู้อำนวยการได้ 1 คนแต่จะต้องมีภาระงานสอนด้วยไ ม่ใช่มาบริหารงานโรงเรียนอย่างเดียว”รศ.ดร.ประวิต กล่าวและว่าดังนั้นการกำหนดเกณฑ์รอบนี้จะเห็นว่าจำกำหนดตามขนาดของโรงเรียนเพื่อให้การเกลี่ยครูได้ดีขึ้น จะเห็นว่าโรงเรียนจะได้รับสัดส่วนในการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็กจนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1,680 คนขึ้นไป ดังนั้นการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้จะนำไปสู่การเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนขนาดใหญ่ไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบรรจุเข้าไปใหม่เมื่อมีตำแหน่งว่าง เกลี่ยโดยการย้ายซึ่งในการย้ายจะต้องพิจารณาตามวิชาที่โรงเรียนขาด ดังนั้นการเกลี่ยอัตรากำลังเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ครูครบชั้นในโรงเรียนขนาดเล็กขณะเดียวกันครูก็จะครบรายวิชาด้วยเพราะในการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังครั้งนี้จะลงในมิติของคุณภาพแต่ละโรงเรียนจะมีครูในวิชาเอกทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แยกจากกันชัดเจน และการบรรจุข้าราชการครูและการย้ายต่อไปจะต้องคำนึงถึงวิชาเอกที่โรงเรียนขาดจริง ๆจะไม่เจอปรากฏการณ์ที่ครูวิชาเอกเดียวกันจะอยู่ในโรงเรียนจำนวนมาก โดยไม่มีกระจายวิชาเอก เกณฑ์อัตรากำลังนี้จะมีการวางแผนอัตรากำลังความต้องการครูในศึกษาธิการใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการผลิตครูของสถาบันวิจัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ผลิตครูจนล้นความต้องการขณะเดียวกันก็จะเน้นในมิติในเชิงคุณภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก.ค.ศ.ได้ประสานกับสถาบันฝ่ายผลิตแล้วทางคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เพื่อมาทำแผนการผลิตร่วมกันแล้ว