เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงศีกษาธิการ ลงพื้นที่และเข้าหารือร่วมกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต และข้าราชการศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดภูเก็ตเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ จ.ภูเก็ต เป็นโมเดลการดำเนินงานของทุกจังหวัดทั่วประเทศ
โดยนายณัฏฐพล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากระบบการศึกษาเป็นหลักดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีแผนที่จะยกระดับรายได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยการยกระดับการศึกษา ซึ่งหลังจากวิกฤตโควิด 19 ประเทศไทยได้รับการยอมรับในคุณภาพของระบบสาธารณสุขในอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงาน เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศ โดยนอกจากนี้การพัฒนาการศึกษาในแต่ละจังหวัดจะต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละจังหวัดด้วย
“ผมได้ลงไปดูทุกโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว และเป็นเหตุผลที่ผมเลือกภูเก็ตเป็นจังหวัดตัวอย่างก็เพราะว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดจำนวนไม่มาก ขนาดของจังหวัดไม่ใหญ่ และเอกชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งแผนในการพัฒนาการศึกษาจะต้องมีความเชื่อมต่อกันทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนาเด็กๆ ก็ต้องตอบโจทย์ของจังหวัดอย่างภูเก็ตที่มีจุดเด่นเรื่องของการท่องเที่ยวและบริการ เรื่องของภาษา ซึ่งการหารือวันนี้ก็เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นแผนงานและนโยบายที่เป็นภาพใหญ่ภาพเดียวกัน ผมเชื่อว่าถ้าพวกเราร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาได้”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ด้าน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในเรื่องการศึกษา เพื่อสร้างต้นแบบการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และเนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก มีปัญหาคนยากจนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนจนในเมือง เพราะรายได้ของคนในจังหวัดส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวและงานบริการ ซึ่งการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ต้องวางมาตรฐานการศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และรองรับโอกาสในอนาคต
“ผมชื่นชมรัฐมนตรีมากที่มีความกล้าหาญในการดำเนินการครั้งนี้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงใน 4 เรื่องใหญ่ คือเป็นการเปลี่ยนในด้านยุทธศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนบุคลากร และเป็นการเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย” นายณรงค์กล่าว