เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปรับฐานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเทียบโอนตามมาตรฐานวิชาชีพต่าง ๆ โดยมีหลักสำคัญคือ ต้องลดความซับซ้อน เช่น  เรียนด้านไฟฟ้า จากสถาบันในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อจบแล้วต้องไปผ่านมาตรฐานวิชาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานอีก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกันในหลายกระทรวง เพื่อสร้างฐานแรงงานที่มีคุณภาพ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนได้รับฟังความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการทั้ง 4  คณะ คือ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล และคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเตรียมฐานข้อมูลในการพัฒนา 7 อุตสาหกรรมเร่งด่วน และเตรียมข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศ ที่ต้องการให้นักเรียนมีทางเลือกในสายวิชาชีพมากขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนและประเทศ

นายณัฏฐพล กล่าวว่า ส่วนการผลักดัน 7 อุตสาหกรรมเร่งด่วน มีการจัดทำร่างแผนปฏิบัติกรด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2565 ใน 7 สาขา ได้แก่ สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน, สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์, สาขาอาชีพอาหารและเกษตร, สาขาอาชีพโตรเคมี เคมีภัณฑ์พลังงาน และพลังงานทดแทน และสาขาอาชีพแม่พิมพ์  ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับศูนย์ความเป็นเลิศ หรือ  EXCELLENT CENTER ของ สอศ.ที่วางแนวทางการทำงานไว้แล้ว

“อย่างไรก็ตามหากในอนาคต  ศธ.สามารถนำมาตรฐานวิชาชีพ 800 วิชาชีพ ที่สำนักงานกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ รับรองมาใช้เทียบวุฒิให้กับผู้เรียน  สพฐ.ได้ จะทำให้สามารถลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ผู้เรียนก็สามารถพัฒนาทักษะอาชีพ หรือทักษะชีวิตได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนตั้งแต่ระดับ ม. 1 ขึ้นไป มีความคุ้นเคยกับวิชาชีพ หรือ เรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวิชาการ แต่อย่ามองว่า ศธ.ให้นักเรียนโอกาสเรียนรู้สายอาชีพแล้วจะทำให้นักเรียนขาดการเรียนรู้ด้านวิชาการไป ศธ.จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการศึกษาอย่างแท้จริง”นายณัฏฐพล กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments