เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ครั้งที่ 9 /2563 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในตำแหน่งเลขาธิการ กอศ. โดยมีผู้อำนวยการระดับสำนัก / ส่วน/กลุ่ม ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วมประชุม ว่า แนวทางการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขอให้ดำเนินแนวทางตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ 3 ป. ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อนำไปสู่นโยบายการศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco-System : TE2S) และปรับใช้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่จะนำไปสู่ “อาชีวศึกษากำลังสอง” โดยใช้ 13 จุดเน้น ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศไว้ ทั้งด้าน IT, Digital การพัฒนาอาชีพ โลกทรรศน์อาชีพ เพิ่มUp skill Re skill New skill ทั้งในระบบ และการศึกษาอาชีพสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา รวมไปถึงการดูแลผู้สูงอายุ การจัดการเรียนการสอนด้านภาษาต่างประเทศ ที่ต้องมีการพัฒนาอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดศักยภาพ และการปรับโครงสร้างสถานศึกษาให้เข้ากับบริบทพื้นที่ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาชีพ ที่แต่ละสถานศึกษา
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพัฒนาอาชีวศึกษายกกำลังสอง จะมีการพัฒนาผ่านศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ที่ตั้งเป้าแบบแผนพัฒนารายบุคคล (Excellence Individual Plan : EIDP) นำมาปรับใช้ทั้งในส่วนของผู้เรียน และผู้สอน ที่ใช้สื่อการเรียนรู้ ยกกำลังสองที่เน้นการเรียนผ่านสื่อผสม ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้แก่ On-Site เรียนที่วิทยาลัย Online เรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP) ที่มีเนื้อหาหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน On-Air เรียนผ่านโทรทัศน์ DLTV และ On-Demand ที่เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยทักษะอาชีพ ที่เชียวชาญ ด้วยคุณภาพ นำปริมาณ สร้างค่านิยม และการเติมเต็มทักษะที่ขาดไป
“ในส่วนของทวิภาคี ก็ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น อีกกลุ่มเป้าหมายของการจัดการอาชีวศึกษา อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1. การสร้างให้ผู้เรียนอาชีวศึกษา ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเมื่อสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาชีวศึกษาก็มีโครงการศูนย์บ่มเพาะอาชีวศึกษา หรือการเรียนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างรายได้และมีรายได้ระหว่างเรียน เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมผู้เรียนให้ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ 2. กลุ่มที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยผู้เรียนต้องมีสมรรถนะอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และ 3.กลุ่มการเข้าสู่ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มจำกัดมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษายกกำลังสอง และการบูรณาการการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่จังหวัดที่จะเชื่อมโยงกัน ในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่อนุบาล ถึงระดับอาชีวศึกษา รวมไปถึงการศึกษานอกระบบ นอกจากการเพิ่มห้องเรียนอาชีพในมัธยม พร้อมทั้งโครงสร้างในส่วนของศึกษานิเทศก์ และงานอื่นๆ ซึ่งก็จะมีการบูรณาการขับเคลื่อนกันไปพร้อม ๆ กันทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ สอศ. ได้เตรียมแนวทางให้อาชีวศึกษาจังหวัด และอาชีวศึกษาภาค เป็นหน่วยประสานขับเคลื่อนการบูรณาการ โดยมีรองเลขาธิการ กอศ. และ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการอาชีวศึกษา และ ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ.กำกับดูแลในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง สอศ. จะได้กำหนดต่อไป”เลขาธิการ กอศ.กล่าว