เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการหารือถึงการนำนโยบาย ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ สู่การปฏิบัติ ได้แก่ นโยบายการสร้างโรงเรียนคุณภาพให้ชุมชน โดยผ่านโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยเน้นให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพของชุมชน ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้นโยบายเกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว แต่ต้องไม่ได้เกิดจากการสั่งการจากข้างบน แต่ให้คิดจากจังหวัด คือ ให้จังหวัดเป็นฐานในการขับเคลื่อนภูมิภาค หมายความว่า จังหวัดนั้น ๆ ควรมีโรงเรียนคุณภาพของชุมชนอย่างแท้จริงโดยเป็นโรงเรียนที่มีปัจจัยพร้อม ซึ่งอาจเป็นการสร้างขึ้นหรือรีโนเวทโรงเรียนที่มีอยู่เดิมให้มีปัจจัยพร้อม มีสมรรถนะ มีศักยภาพ เพื่อให้บริการชุมชนตามบริบทของชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เพื่อกระจายคุณภาพจากโรงเรียนแข่งขันสูง หรือ แออัดไปในพื้นที่ต่าง ๆ ขณะที่โรงเรียนสแตนอโลนที่ไม่สามารถยุบรวมได้ก็ยังต้องมีแต่ก็ต้องทำให้มีคุณภาพด้วย
“ดังนั้นการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพในแต่ละจังหวัด ต้องดูบริบทของพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีทั้งโรงเรียนดีโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนสแตนอโลน เป็นต้น ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการมีแนวคิดว่า จะให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพดูแลเป็นรายจังหวัด ลงไปดูบริบทของพื้นที่แต่ละจังหวัด ซึ่งผมจะมอบเป็นนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไปเตรียมข้อมูล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการของจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน จะได้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นการสร้างคนให้คนสร้างชาติได้”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ จากการที่ นายณัฏฐพล ได้ลงพื้นที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวและลงทุนเยอะ ดังนั้นจึงมีความคิดว่าจะทำโรงเรียนนานาชาติสำหรับคนจน ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาล เพื่อให้มีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศในการสื่อสารเพื่อทำอาชีพในอนาคตได้ แต่เรื่องนี้ จะต้องคุยกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ในเร็ว ๆ นี้ และจะลงพื้นที่อย่างจริงจังใน 2 จังหวัด คือภูเก็ต และสมุทรสงคราม ในปลายเดือนนี้