ปีงบประมาณ 2563 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินการในโครงการยกระดับสมรรถนะกำลังคนวัยแรงงานเพื่ออนาคต (Upskill/Reskill) ในเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 เพื่อพัฒนาทักษะ Future Skill ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบ Modular Education  ได้แก่ Data Analytics, Digital Media, Cyber Security, Entrepreneurship, Advanced Manufacturing, Techenabled Services, Smart Farm เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 11 ทักษะ จำนวน 59 หลักสูตร โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ 2,992 คน ประกอบด้วยอาชีพ ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ผู้ว่างงาน พนักงาน/ลูกจ้างวิสาหกิจ บัณฑิตจบใหม่ และพนักงานบริษัท กิจกรรม “สนับสนุน การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการยกระดับสมรรถนะกำลังคน Upskill/Reskill ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นการถอดบทเรียนการโครงการดังกล่าวที่ได้ดำเนินการมาเพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษา ในรูปแบบ Modular Education หรือ Modular Curriculum และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) และทักษะเพื่ออนาคต (Reskill/Upskill)

ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดกิจกรรมฯ ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษายกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในสถาบันการศึกษา เพื่อปรับบริบทของมหาวิทยาลัยให้สามารถรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนในทุกๆด้านของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม นอกจากนั้นยังตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ครอบคลุมการพัฒนาในทุกพื้นที่ ด้วยพลังของมหาวิทยาลัย

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวในการมอบนโยบาย “การพัฒนาทักษะคนไทยพร้อมทำงานด้วย Upskill/Reskill” ว่า หลักสูตรการ Upskill/Reskill ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของทักษะ ความสำคัญของการศึกษาที่จะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ ได้ทำงานที่มีประโยชน์ เกิดคุณค่าต่อประเทศ และมีค่าตอบแทนให้แก่ผู้ทำมากขึ้น สุดท้ายเราก็เชื่อว่าเราสามารถที่จะปรับการศึกษาของเราที่มีอยู่เวลานี้ไปสู่โลกยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้ เราสามารถปรับตัวได้

การศึกษานั้นต้องไม่ได้มีแต่ความรู้ แต่จะต้องมีปัญญาด้วย ปัญญาคือการมองเห็นภาพรวม เห็นการเรียนรู้ระหว่างศาสตร์ต่างๆ การคิดบวก และมีความหวังเสมอ ถ้าเรามีแต่ความรู้อย่างเดียวก็อาจจะพาเราจมลงก็ได้ ถ้าไม่มีปัญญากำกับด้วย ความรู้นั้นได้มาจากสองทาง ทางหนึ่งคือการอ่านจากตำรา อีกทางคือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ การศึกษาของไทยเราไปเน้นที่หัวมากกว่ามือ เน้นที่สมองมากกว่าหัวใจ ถ้าการศึกษาเรามีครบทุกอย่างทั้ง มือ สมอง และหัวใจ เราจะเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น นั้นคือเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง

หลักสูตรที่ท่านทำเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนที่มีงานทำแล้วก็สามารถกลับเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้ และจะต้องเป็นการศึกษาที่ลงมือปฏิบัติให้มากด้วย อยากให้ขยายผลว่าการปฏิบัตินั้นสามารถทำให้วิชาการของเราไปได้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง และอยากจะให้ถอดบทเรียนจากหลักสูตร Upskill/Reskill ที่ทำไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนแบบปกติด้วย เราอาจจะต้องปรับการศึกษาให้ลงมือปฏิบัติให้มากขึ้น ใช้หัวใจให้มากขึ้น เป็นการศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้น ขอให้ทำให้เต็มที่ ถ้างานทางวิทยาศาสตร์ อุดมศึกษาเราไปได้ดี ในเวลาไม่นานประเทศก็จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ ไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้” รมว.อว. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments