เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวในการประชุม สัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อขับเคลื่อนอาชีวศึกษาประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2564 ณ โรงแรม เจ.พีเอ็มเมอรัลด์ จังหวัดยโสธร   ว่า ในการขับเคลื่อนอาชีวะยกกำลังสอง สร้างคุณภาพ นำปริมาณ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม จากการถอดรหัสนโยบาย การศึกษากำลังสอง ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ)จะเพิ่มความเข้มข้นในทุกมิติ  คือ ผู้เรียน ครู ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ และสถานศึกษา สู่การพัฒนาสถานศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง excellent Center ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี (Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ในการก้าวไปเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) ของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์   จำนวน 100 แห่ง ในกรอบการขับเคลื่อนปี 2564

เลขาธิการ กอศ.  กล่าวต่อไปว่า ขอให้สถานศึกษาทำในสิ่งที่ถนัด สร้างในสาขาที่เชี่ยวชาญ สู่ความเป็นเลิศ และทบทวนถึงที่มาของหลักการและเจตนารมณ์การจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละประเภท ในสังกัด เช่น  วิทยาลัยสารพัดช่าง(วช.) เพื่อการจัดการศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับประชาชน ทั้งในด้าน Re-skills Up-skills  New-skills  ระยะสั้น  ส่วนวิทยาลัยการอาชีพ(วก.)  หลักการ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาครองรับการศึกษาสายวิชาชีพ พื้นฐานวิชาชีพที่สอดคล้องกับบริบทสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทุกสาขาวิชาโดยตอบโจทย์ในพื้นที่นั้น ๆ ขณะที่วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยี(วษท.) จัดการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  โดย สอศ.จะทำหน้าที่บริหารจัดการรูปแบบใหม่เพื่อช่วยสนับสนุน แก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการคิด การ จัดสรรงบประมาณ การลงทุน บริหารและการจัดการ ให้สถานศึกษาให้สามารถดำเนินการไปสู่ HCEC  เช่น  วิทยาลัยสารพัดช่าง หากไม่เปิดสอน ระดับปวช.และปวส.จะต้องบริหารจัดการอย่างไรที่ไม่ใช่จ่ายแบบงบประมาณรายหัวผู้เรียน แต่นำแนวคิดการใช้วิทยากรหรือครูผู้สอนระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาชีพเข้ามาเป็นครูสอน และ เกลี่ยอัตราครูประจำที่มีอยู่ ไปที่วิทยาลัยเทคนิค หรือวิทยาลัยการอาชีพ หรือวิทยาลัยที่ขาดแคลนครู เพื่อทดแทนครูจ้างสอน โดยเฉพาะในวิทยาลัยขนาดใหญ่

“ในการขับเคลื่อน ผมได้นำแนวคิดการปลดล็อค มาใช้ เพื่อสร้าง Win Win ให้กับสถานศึกษา และสถานประกอบการ ทั้งด้านกรอบงบประมาณการจัดสรร และการลงทุนของสถานประกอบการ  เช่น ภาษีในเรื่องของการจัดการศึกษา การนำอุปกรณ์การจัดการศึกษาหรือการลงทุนในการสร้างโรงงานในโรงเรียน ด้านการปรับเปลี่ยน พัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง จัดการอาชีวศึกษารูปแบบทวิภาคีอย่างเข้มข้น ใช้หลักการ  4 on  ทั้ง 1.online  2.on air 3.on demand และ 4.on site ทางด้านสมรรถนะของวิชาชีพ ผู้เรียนต้องเพิ่มเติมและมีความพร้อมทางด้านภาษา ในภาษาที่สอง และสาม เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ รวมถึงทักษะด้าน Digital และเทคโนโลยีต่างๆ และ ด้านการเปิดกว้าง ในการตั้งห้องเรียนอาชีพในมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยจัดทำเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐานและสามารถเก็บเป็นเครดิตเมื่อเข้าสู่การเรียนในระดับอาชีวศึกษา กำหนดเป้าหมาย เป็นหนึ่งวิทยาลัย หนึ่งเอกชนหรือสถานประกอบการ และหนึ่งโรงเรียนมัธยม แชร์ทรัพยากรร่วมกันในการจัดการศึกษา”เลขาธิการ กอศ .กล่าวและว่า  ทั้งนี้ ในส่วนของอาชีวศึกษาเอกชนก็จะดำเนินการควบคู่กันไปอาชีวศึกษาภาครัฐ ส่วนในประเด็นของนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการแสดงออกทางความคิดเห็นต่าง ๆ ก็เปิดกว้างผ่านช่องทางการสื่อสาร  ซึ่งเรียกว่าองค์การวิชาชีพของนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีอยู่ในสถานศึกษาทุกแห่งของอาชีวะ พร้อมกันนี้ ขอให้สถานศึกษาทุกแห่ง ยังคงตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานศึกษาทุกแห่งการ์ดอย่าตก เลขาธิการฯ กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments